โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 309, 310, 339 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 (ที่ถูก 310 วรรคแรก), 339 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธมีด จำคุก 12 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและฐานข่มขืนใจโดยกำลังประทุษร้ายและโดยมีอาวุธเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนัก (ที่ถูก ต้องระบุตามมาตรา 309 วรรคสอง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่พิจารณาลดโทษให้แก่จำเลยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ และมีนางสาวธิดาพร ไตรวาสน์ ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียน ซึ่งตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความ หรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น" ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 33 นี้มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อนางสาวธิดาพร ไตรวาสน์ มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 การที่นางสาวธิดาพรเรียงหรือแต่งฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 158 (7) ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยเป็นผู้เรียบเรียงอุทธรณ์ด้วยตนเองแล้วให้นางสาวธิดาพรเขียนแทน แต่นางสาวธิดาพรกลับลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์โดยสำคัญผิดมิได้เจตนาฝ่าฝืนกฎหมายนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่ไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า เรื่องลดโทษให้แก่จำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งในข้อดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ เป็นการต้องห้ามหรือไม่ต้องด้วยองค์ประกอบแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้"
พิพากษายืน