โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายศฐาวุฒิ ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืนโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าซ่อมแซมรถยนต์ ยี่ห้อฟอร์ด ของโจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,539,116.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 จำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้จำเลยทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์เกี่ยวกับงานจราจรและอุบัติเหตุมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจและเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ร่วมขับรถยนต์ ยี่ห้อฟอร์ด มีผู้เสียหายที่ 2 นั่งโดยสารมาด้วยออกจากสำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง มีรถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีดำ มีจำเลยซึ่งเคยเป็นหัวหน้างานของอดีตคนรักโจทก์ร่วมขับลักษณะปาดหน้ารถของโจทก์ร่วม และมีรถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด สีบรอนซ์ ขับตาม โจทก์ร่วมเบี่ยงรถหลบแล้วขับต่อ เมื่อมาถึงบริเวณปากทางเลี้ยวเข้าโรงงานไมเออร์ จำเลยขับรถเบียดลักษณะตัดหน้าให้โจทก์ร่วมหยุดรถ และรถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด สีบรอนซ์ มาจอดปิดท้ายรถของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงจอดรถ จำเลยลงจากรถพร้อมถือวัตถุในมือเดินมาเคาะกระจกรถของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมขับถอยหลังเบี่ยงหลบรถที่จอดปิดอยู่ และขับรถหนีไปด้วยความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง จำเลยยังคงขับรถไล่ตามจนกระทั่งเฉี่ยวชนกับรถที่โจทก์ร่วมขับ ทำให้รถของโจทก์ร่วมหมุนเสียหลักชนเข้ากับต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งแพทย์ได้ตรวจและให้ความเห็นว่ารักษาประมาณ 7 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน รถยนต์ของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย คืนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ชั้นสอบสวน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 4 มิถุนายน 2559 และวันที่ 24 กันยายน 2559 ตามลำดับ จำเลยให้การในวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 โดยปฏิเสธว่า จำเลยเห็นรถยนต์ของโจทก์ร่วม จึงขับรถยนต์ตามไปเพื่อปรับความเข้าใจ เมื่อจำเลยลงจากรถเดินไปที่รถยนต์ของโจทก์ร่วม จำเลยถือโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดมือเพื่อจะใช้บันทึกเสียงการสนทนาหรือบันทึกคลิปวิดีโอ สำหรับข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ เพราะหากจำเลยถืออาวุธปืนเดินไปที่รถของโจทก์ร่วมจริง โจทก์ร่วมคงต้องขับรถหนีไปตั้งแต่ขณะที่จำเลยถืออาวุธปืนแล้ว คงไม่รอให้จำเลยถืออาวุธปืนเดินมาเคาะที่กระจกรถของโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งต่างอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยขับรถตัดหน้ารถคันที่โจทก์ร่วมขับในลักษณะให้โจทก์ร่วมจอดรถ เมื่อโจทก์ร่วมจอดรถแล้วจำเลยลงจากรถพร้อมถืออาวุธปืนเดินมายังรถที่โจทก์ร่วมขับ แล้วใช้มือซ้ายที่ถืออาวุธปืนเคาะบริเวณกระจกรถตรงที่โจทก์ร่วมนั่งเพื่อให้โจทก์ร่วมลงจากรถ หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังแทบจะทันที โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยถืออาวุธปืนมาเคาะกระจกรถ โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ได้ยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมรีบขับรถหนีไปโดยเร็วในทันทีที่จำเลยเดินมาเคาะกระจกรถ ของโจทก์ร่วม จำเลยก็ขับรถตามไปจนเฉี่ยวชนกัน และรถของโจทก์ร่วมเสียหลักหมุนชนเข้ากับต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน จนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ รถของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายมากประกอบกันแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่จำเลยถือเดินมาเคาะกระจกรถนั้น คือ อาวุธปืน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกามาอีกประการหนึ่งขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 จะได้รับบาดเจ็บไม่มาก แต่การที่จำเลยขับรถยนต์ในลักษณะปาดหน้ารถของโจทก์ร่วมหลายครั้งเพื่อให้โจทก์ร่วมจอดรถลงมา เมื่อโจทก์ร่วมจอดรถแล้ว จำเลยถืออาวุธปืนไปเคาะกระจกรถของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมขับรถหนี จำเลยก็ยังขับติดตามด้วยความเร็วมากจนกระทั่งเฉี่ยวชนกับรถที่โจทก์ร่วมขับทำให้รถของโจทก์ร่วมหมุนเสียหลักชนเข้ากับต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน รถของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายมาก หลังเกิดเหตุจำเลยก็มิได้บรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำของตน นับว่าเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยนั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 เป็นเวลาเกิน 1 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ ซึ่งการจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากการพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง ที่โจทก์ร่วมขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ ยี่ห้อฟอร์ด 1,539,116.89 บาท ของโจทก์ร่วม และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมมานั้น เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น โจทก์ร่วมจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเกิดแก่รถยนต์ของโจทก์ร่วม ดังนี้ โจทก์ร่วมจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ 900,000 บาท แก่โจทก์ร่วมนั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีส่วนแพ่ง และยกคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ 900,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2