โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองและเครื่องกระสุนปืน ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบจำเลยและคำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 3,000 บาท รวมจำคุก 6 ปี 8 เดือน และปรับ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืนพกออโตเมติกและปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายนพคุณ ผู้เสียหาย เป็นหัวหน้าคนงานรับจ้างคัดแยกผลทุเรียนอยู่ที่แผงทุเรียนเป่าเหิงซางเหอของนายอาหลี่ซึ่งเป็นแผงทุเรียนที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยรับจ้างนายอาหลี่ตัดผลทุเรียนจากสวนนำมาส่งที่แผงทุเรียนดังกล่าว ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้เสียหายคัดผลทุเรียนที่จำเลยตัดมาส่งออก 2 ครั้ง อ้างว่าเป็นทุเรียนอ่อน ครั้งแรกประมาณ 100 กิโลกรัม และครั้งที่ 2 ประมาณ 1,000 กิโลกรัม เกินครึ่งของผลทุเรียนที่ตัดมา ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ระหว่างที่ผู้เสียหายกับลูกน้องรวมประมาณ 10 คน นั่งดื่มเบียร์และรับประทานอาหารอยู่ที่แผงทุเรียนที่เกิดเหตุ นางพลอยซึ่งเป็นภริยาของนายอาหลี่ได้เรียกผู้เสียหายกับลูกน้องไปตำหนิว่าคัดแยกทุเรียนไม่ดี ผู้เสียหายบอกว่าจะรับผิดชอบเอง สักครู่หนึ่งนางพลอยโทรศัพท์บอกให้จำเลยมายังแผงทุเรียนที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นประมาณ 20 ถึง 30 นาที จำเลยขับรถยนต์มาจอดที่แผงทุเรียนที่เกิดเหตุแล้วเดินเข้าไปพูดคุยกับนายอาหลี่ ผู้เสียหายเดินเข้าไปหาจำเลยและนายอาหลี่ เกิดปากเสียงกันขึ้นระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายประมาณ 1 นาที จำเลยพูดขึ้นว่า "มึงจะเอาอะไรกับกู จะเอาไอ้นี่ไปกินมั้ย" พร้อมกับชักอาวุธปืนพกออโตเมติกซึ่งเหน็บอยู่ที่เอวออกมากระชากลูกเลื่อนให้กระสุนเข้าลำกล้องแล้วหันปากกระบอกปืนจ้องไปที่ผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 1 เมตร แต่ลูกน้องของผู้เสียหายประมาณ 4 คน เข้าไปจับมือและแขนของจำเลยให้หันปากกระบอกปืนลงที่พื้น เกิดการยื้อแย่งกันเป็นเหตุให้ปืนลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนถูกพื้นแตกเป็นสะเก็ดกระเด็นถูกนายอนุกูลที่ขาซ้ายและต้นขาขวาเป็นแผลถลอก และถูกนายสะกรีที่ขาขวาเป็นแผลฉีกขาด ได้รับอันตรายแก่กาย หลังจากปืนลั่น จำเลยบอกว่าพอแล้ว ไม่ทำอะไรแล้ว ผู้เสียหายกับพวกจึงปล่อยตัวจำเลย จากนั้นจำเลยถืออาวุธปืนเดินไปขึ้นรถขับออกไปจากที่เกิดเหตุ และไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรทุ่งตะโก หลังเกิดเหตุจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้นายอนุกูล 20,000 บาท และนายสะกรี 25,000 บาท สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 3,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จำเลยไม่ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะประเด็นการกำหนดโทษของศาลชั้นต้นว่าสูงเกินไปหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ ทั้งที่เมื่ออ่านอุทธรณ์ของจำเลยโดยละเอียดทั้งฉบับ ปรากฏว่านอกจากจำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแล้ว จำเลยยังได้กล่าวไว้ในอุทธรณ์ด้วยว่า จำเลยโมโหที่ถูกผู้เสียหายตำหนิว่าตัดทุเรียนอ่อนมาให้ จึงขาดสติคว้าอาวุธปืนออกมาโดยมิได้มีเจตนาที่จะกระทำการคิดร้ายต่อผู้เสียหายแม้แต่น้อย จำเลยกระทำไปเพราะอยากจะเอาชนะผู้เสียหายและต้องการให้ผู้เสียหายหยุดว่ากล่าวจำเลยเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้น และไม่คิดว่าลูกน้องของผู้เสียหายจะคิดว่าจำเลยจะลงมือยิงผู้เสียหายจริง ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้ยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ที่ต้องวินิจฉัยคำฟ้องอุทธรณ์ทุกข้อ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยก่อน โดยเห็นว่า การพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 นอกจากผู้กระทำได้ลงมือกระทำถึงขั้นใกล้ชิดต่อผลสำเร็จที่จะเกิดเป็นความผิดขึ้นแล้ว ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาในการกระทำความผิดนั้นด้วย การจะทราบได้ว่าเจตนาของผู้กระทำมีอย่างไรต้องพิจารณาจากการกระทำของผู้กระทำประกอบพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวง ในข้อนี้ได้ความจากผู้เสียหายว่า นอกจากเรื่องการคัดผลทุเรียนอ่อนแล้ว ผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน แสดงว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยมีปากเสียงกันเรื่องผลทุเรียนที่จำเลยตัดมาส่งแล้วถูกผู้เสียหายคัดออกบางส่วนอ้างว่าเป็นทุเรียนอ่อน ซึ่งมิใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องเอาชีวิตกัน นอกจากนี้อาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นอาวุธปืนพกออโตเมติก เมื่อจำเลยกระชากลูกเลื่อนให้กระสุนเข้าลำกล้องแล้วย่อมสามารถเหนี่ยวไกยิงได้ทันทีในเวลาต่อเนื่องกัน ขณะนั้นผู้เสียหายยืนอยู่ตรงหน้าจำเลยในระยะห่างเพียง 1 เมตร หากจำเลยตั้งใจที่จะยิงจริง พวกของผู้เสียหายไม่น่าจะเข้าไปช่วยกันจับมือและแขนของจำเลยให้หันปากกระบอกปืนลงที่พื้นได้ทัน ประกอบกับขณะที่ชักอาวุธปืนออกมา จำเลยพูดว่า "มึงจะเอาอะไรกับกู จะเอาไอ้นี่ไปกินมั้ย" ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าจำเลยจะยิงผู้เสียหายในทันที อีกทั้งหลังจากปืนลั่น เมื่อจำเลยบอกว่าพอแล้ว ไม่ทำอะไรแล้ว ผู้เสียหายกับพวกได้ปล่อยตัวจำเลยโดยอาวุธปืนยังคงอยู่ในมือจำเลย หากจำเลยจะถือโอกาสใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายย่อมสามารถกระทำได้โดยง่าย แต่จำเลยกลับถืออาวุธปืนเดินไปขึ้นรถขับออกไปจากที่เกิดเหตุแต่โดยดี พยานหลักฐานโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจ้องเล็งอาวุธปืนไปที่ผู้เสียหายเพื่อข่มขู่หรือจะยิงให้ตาย กรณีต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเพียงใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยชักอาวุธปืนพกออโตเมติกออกมากระชากลูกเลื่อนให้กระสุนเข้าลำกล้องแล้วหันปากกระบอกปืนไปข่มขู่ผู้เสียหาย หากมีการยื้อแย่งกันย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ปืนลั่นขึ้นได้โดยง่าย ถือเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อพวกของผู้เสียหายเข้ายื้อแย่งอาวุธปืนกับจำเลยเป็นเหตุให้ปืนลั่น กระสุนปืนถูกพื้นแตกเป็นสะเก็ดกระเด็นถูกนายอนุกูลและถูกนายสะกรีได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 แม้ความผิดที่ได้ความจากการพิจารณาแตกต่างจากฟ้องโจทก์ที่ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่การต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทนั้น กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เนื่องจากนายอนุกูล นายสะกรี และบุคคลอื่นเข้ามาขัดขวางด้วยการคว้ามือของจำเลยไว้แล้วช่วยกันยื้อแย่งอาวุธปืนจากจำเลย เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น สะเก็ดกระสุนปืนถูกนายอนุกูลและนายสะกรีได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งจำเลยนำสืบรับว่ามีการแย่งอาวุธปืนทำให้ปืนลั่น และหลังเกิดเหตุจำเลยได้ไปเยี่ยมนายอนุกูลและถูกนายสะกรีที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดกระสุนปืน แสดงว่าจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามที่ได้ความจากการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 จำคุก 1 เดือน และปรับ 9,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 วัน และปรับ 6,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว เป็นจำคุก 20 วัน และปรับ 9,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งจำเลยได้บรรเทาผลร้ายโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บตามสมควรแล้ว จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8