ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดเวลาพักของนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การไม่จัดเวลาพักที่เหมาะสมถือเป็นการผิดสัญญา
จำเลยประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า งานของจำเลยเป็นงานอาชีพด้านบริการ ดังนั้น โจทก์กับจำเลยจึงตกลงกำหนดเวลาทำงานปกติต่อวันกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วเวลาทำงานปกติต่อสัปดาห์ต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 จำเลยจัดให้โจทก์มีเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลาถึง 8.30 นาฬิกา ถึง 18.30 นาฬิกา หรือเวลา 9 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา โดยให้พักเวลา 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมงติดต่อกัน... นั้น เป็นบทบัญญัติที่นอกจากจะกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงานในช่วงเวลาทำงานปกติระหว่างวันทำงานแล้ว การจัดเวลาพักจะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายให้สามารถทำงานต่อไปได้ อันจะส่งผลดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้างอันเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้จัดเวลาพักระหว่างการทำงานในเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกา ภายหลังจากเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา หรือ 9 นาฬิกา แล้ว ซึ่งถือว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ตาม แต่ในการทำงานภายหลังจากเวลา 13 นาฬิกา จนถึงเวลา 18.30 นาฬิกา หรือ 19 นาฬิกา แล้วแต่กรณี จำเลยมิได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักหลังจากโจทก์ทำงานในช่วงบ่ายมาแล้วเกินห้าชั่วโมงติดต่อกัน จึงเป็นการจัดเวลาพักที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ฟ้องขอค่าล่วงเวลาเนื่องจากจำเลยไม่จัดเวลาพักระหว่างการทำงานในช่วงบ่ายซึ่งปรากฏว่ายังเป็นเวลาทำงานปกติของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าวตามฟ้อง แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการไม่จัดเวลาพักระหว่างการทำงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาว่าค่าเสียหายดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเดียวกับค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลา และให้คำนึงถึงการที่โจทก์ได้รับการจัดสรรเวลาพักหนึ่งชั่วโมงแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย