โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดอุดรธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1491/2555 ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 โดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 กำหนดให้จำเลยซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4333 คืนจากนางสาวนารีรัตน์ และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายแก้ว (โจทก์ในคดีแพ่ง) ภายใน 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากนายแก้ว (โจทก์ในคดีแพ่ง) ถึงแก่ความตายก่อนครบกำหนด ให้โอนที่ดินให้แก่นางทองศรี หากนางทองศรีถึงแก่ความตายก่อนครบกำหนด ให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนและโอนให้แก่นายแก้ว (โจทก์ในคดีแพ่ง) ภายในกำหนด จำเลยยอมชำระเงินให้แก่นายแก้ว (โจทก์ในคดีแพ่ง) 1,000,000 บาท แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม จนนายแก้ว (โจทก์ในคดีแพ่ง) และนางทองศรีถึงแก่ความตาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทหรือไม่ เห็นว่า การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 คือ ต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ การตีความสัญญาเพื่อให้เห็นถึงการแสดงเจตนาของคู่สัญญานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามมาตรา 171 ด้วย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของข้อความในสัญญา ศาลจึงต้องแสวงหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายโดยค้นหาเอาจากข้อความในสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้นด้วย จากข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 กำหนดให้บุคคลฝ่ายโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจากฝ่ายจำเลยไล่เรียงกันไปจากนายแก้ว (โจทก์ในคดีแพ่ง) นางทองศรี และโจทก์ ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอยู่ของบุคคลนั้น ๆ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้ นอกจากนี้ ข้อ 3 ก็มีการกำหนดให้ฝ่ายจำเลยแบ่งแยกที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ไล่เรียงลำดับกันไปโดยมีเงื่อนไขเดียวกันกับข้อ 2 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายว่าบุคคลฝ่ายโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 เป็นลำดับไป ประกอบกับในชั้นยื่นคำให้การและชั้นพิจารณา จำเลยไม่เคยโต้แย้งว่าจำเลยไม่มีภาระหนี้ที่ต้องชำระเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ ทั้งจำเลยยังเสนอที่จะประนอมหนี้กับโจทก์มาโดยตลอด โดยจำเลยเสนอที่จะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 เพื่อตีใช้หนี้โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าตนเป็นหนี้โจทก์เพียง 142,857.143 บาท ตามที่ฎีกาจริง ที่ผ่านมา จำเลยก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องนำทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่าจำนวนหนี้ถึงกว่าสองเท่าไปตีใช้หนี้โจทก์ ข้อต่อสู้ของจำเลยในประเด็นนี้มีเพียงการโต้แย้งเรื่องโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 1,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น การตีความข้อความตอนท้ายของสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ที่ว่า "...หากว่าจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ไม่ไปดำเนินการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากบุคคลภายนอกและโอนให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ยินยอมชำระเงินคืนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)" คำว่า "โจทก์" ดังกล่าว จึงต้องแปลความหมายว่า ฝ่ายโจทก์ ซึ่งรวมถึงโจทก์ในคดีนี้ด้วยเนื่องจากนายแก้วและนางทองศรีได้ถึงแก่ความตายแล้วก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ 1,000,000 บาท เมื่อจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (2) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีตามคำพิพากษาโดยศาลได้ออกหมายบังคับคดีจำเลย และโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยพบว่าจำเลยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ไม่เพียงพอที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว จำเลยให้การและส่งบันทึกถ้อยคำว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท แต่ไม่ได้ส่งหลักฐานใด ๆ ประกอบการยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และจำเลยไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดอีกหรือไม่ นอกจากนี้ ยังได้ความจากที่จำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเป็นหนี้สหกรณ์ตำรวจประมาณ 400,000 ถึง 500,000 บาท เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 9 (1) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ภายในระยะเวลาที่กำหนด แม้จำเลยจะรับราชการตำรวจและเคยเสนอจะโอนที่ดินตีใช้หนี้โจทก์ก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยเสนอตีโอนใช้หนี้นั้นมีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ประกอบกับจำเลยไม่เคยชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์เลย กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ