คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้คงเรียกผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 37/2561 หมายเลขแดงที่ 23/2563 โดยให้ผู้คัดค้านชำระต้นเงินจำนวน 579,411,812.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 2 เมษายน 2563 อันเป็นวันยื่นคำร้องนี้ คิดเป็นเงิน 77,118,827.50 บาท รวมเป็นเงิน 656,530,640.50 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 579,411,812.87 บาท นับแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้องนี้เป็นต้นไปจนกว่าผู้คัดค้านจะชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ผู้ร้องจนเสร็จสิ้น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
สำนวนหลัง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามสำนวนแรกโดยกล่าวอ้างเหตุผลในทำนองเดียวกับที่ยื่นคำคัดค้านในไว้ในสำนวนแรก
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 37/2561 หมายเลขแดงที่ 23/2563 ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 50,000 บาท ทั้งนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น เพราะไม่มีผลให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในคดีนี้จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์แยกเป็นหลายประเด็น ได้แก่ สัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเกิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องมีสิทธิตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ถึง 376 ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการยื่นคำร้องและยื่นคำคัดค้าน และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลชั้นต้นอ้างมามีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ สำหรับประเด็นว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเกิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดในคดีหมายเลขดำที่ พ.4067/2560 ของศาลชั้นต้นที่ผู้ร้องยื่นฟ้องก่อนเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ตามคำฟ้องในคดีดังกล่าวผู้ร้องกล่าวอ้างถึงสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง สัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณา (โครงการแอลอีดี) สัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณา (โครงการการทางพิเศษ) สัญญากู้เงินกับสัญญากู้เงินเพิ่มเติมครั้งที่ 1 และสัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณาแต่เพียงผู้เดียว (โครงการหอนาฬิกา) แต่คำให้การคดีดังกล่าวผู้คัดค้านให้การปฏิเสธเกี่ยวกับสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องทำนองว่าเป็นสัญญาระหว่างผู้คัดค้านกับบริษัท ด. ไม่ใช่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงไม่ใช่คู่สัญญากับผู้คัดค้าน และไม่มีอำนาจฟ้องผู้คัดค้าน ส่วนที่ผู้คัดค้านให้การในทำนองว่าต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการและยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีนั้น ก็เป็นการอ้างเพียงว่าสัญญาต่าง ๆ ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำฟ้องล้วนมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้น โดยไม่มีข้อความแสดงถึงการยอมรับว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านผูกพันกันในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแต่อย่างใด คำให้การดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านยอมรับว่าข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องต้องระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ทั้งคดีดังกล่าวผู้ร้องก็เป็นฝ่ายยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเอง นอกจากนี้ ในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้คัดค้านก็ยื่นคำคัดค้านปฏิเสธในทำนองเดียวกันว่าผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องและไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 วรรคสอง ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ส่วนที่ภายหลังผู้คัดค้านฟ้องคดีหมายเลขดำที่ พ.2268/2563 ต่อศาลชั้นต้น ก็เป็นการฟ้องนายสุรเชษฐ์ บริษัท ด. และบริษัท ล. เป็นจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย จึงเป็นเรื่องระหว่างคู่ความในคดีดังกล่าวและไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีนี้ ข้ออ้างในประเด็นนี้ของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และกรณียังรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
สำหรับประเด็นว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ก็ตาม แต่ในเรื่องขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ความมีอยู่ ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงปัญหาว่าสัญญาดังกล่าวผูกพันผู้ร้องหรือไม่นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 44 ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยสัญญา 5 ฉบับ สัญญาแต่ละฉบับเกี่ยวข้องโยงใยกันถึงขนาดที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ โดยนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องโยงใยกันแล้ว องค์ประกอบและข้อสัญญาอื่นในสัญญาทั้งหมดยังมีการอ้างอิงและส่งผลถึงกันด้วยนั้น เห็นว่า แม้ตามคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องจะอ้างถึงสัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณา (โครงการแอลอีดี) สัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณา (โครงการการทางพิเศษ) สัญญากู้เงินและสัญญากู้เงินเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในโครงการหอนาฬิกา และสัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณาแต่เพียงผู้เดียว (โครงการหอนาฬิกา) มาด้วย ก็เป็นการอ้างเพียงเพื่อให้เห็นว่ามีการทำสัญญาเหล่านั้นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้วเท่านั้น แต่ข้ออ้างที่ผู้ร้องอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการเรียกค่าเสียหายให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดต่อผู้ร้องนั้นล้วนมาจากการอ้างว่าผู้คัดค้านกระทำการไม่สุจริต จงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง ไม่ได้จัดหารายได้ จัดหารายได้ไม่เพียงพอแก่การประกอบการของผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย อันเป็นการผิดข้อตกลงในการประกันรายได้ขั้นต่ำหรือ "Minimum Guarantee" จำนวน 100,000,000 บาท ตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องข้อ 4.1 (ช) รวมถึงผิดข้อตกลงที่ผู้คัดค้านให้ไว้เกี่ยวกับรายการรายได้ของโครงการต่าง ๆ ในระหว่างการเจรจาตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง ทั้งเมื่อพิจารณาสัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณาในโครงการต่าง ๆ รวมถึงสัญญากู้เงินที่อ้างมาในคำเสนอข้อพิพาทก็ไม่มีการตกลงในลักษณะประกันรายได้ดังเช่นที่ผู้ร้องอ้างในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้ว ตามข้อความเบื้องต้นในหน้าแรกของสัญญาระบุว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างบริษัท ด. กับผู้คัดค้าน โดยคู่สัญญาประสงค์ที่จะเข้าร่วมลงทุนในผู้ร้องร่วมกันเพื่อการลงทุนให้ได้มาซึ่งสัญญาสัมปทานและประกอบธุรกิจด้านการตลาดและการโฆษณาในพื้นที่ที่ได้สิทธิตามสัญญาสัมปทาน และคู่สัญญามีความประสงค์ที่จะกำหนดเงื่อนไขในการลงทุนในผู้ร้องรวมถึงแนวทางในการบริหารและดำเนินการผู้ร้องร่วมกันภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงของสัญญาดังกล่าว ซึ่งในการร่วมลงทุนนั้น สัญญาข้อ 2 กำหนดเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อผู้ร้อง การโอน ซื้อขาย เพิ่มทุนในหุ้นของผู้ร้อง โดยให้บริษัท ด. ถือหุ้นร้อยละ 70 ส่วนผู้คัดค้านถือหุ้นร้อยละ 30 และในกรณีเกิดเหตุผิดสัญญา คู่สัญญาที่มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็มีสิทธิบังคับให้คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาซื้อหรือขายหุ้นได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 11.2 และในสัญญาข้อ 16.5 ในหัวข้อ "สัญญาทั้งฉบับ" ระบุว่า "สัญญานี้เป็นสัญญาฉบับเดียวและเฉพาะระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับเรื่องของสัญญานี้ …" จากข้อต่าง ๆ ข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท ด. กับผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง มีสาระสำคัญในการกำหนดหน้าที่ของคู่สัญญาในการบริหารจัดการผู้ร้อง โดยมิได้มีเจตนาให้ผู้ร้องมีฐานะเป็นคู่สัญญาด้วย แม้สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องจะอ้างอิงถึงสัญญาอื่นด้วย แต่ก็มีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดแผนงานและวิธีดำเนินการของโครงการต่าง ๆ อันเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องแยกทำสัญญาต่างหาก ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาต่าง ๆ ที่มีการอ้างถึง อันได้แก่สัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณาในโครงการต่าง ๆ รวมถึงสัญญากู้เงิน ก็ล้วนมีข้อกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ตกลงร่วมกันไว้ในแต่ละสัญญา แม้สัญญาเหล่านั้นจะอ้างถึงข้อตกลงบางประการในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง แต่ก็เป็นการอ้างอิงเพียงเพื่อให้ทราบถึงที่มาและเจตนารมณ์ของคู่สัญญาในการปฏิบัติตามสัญญาแต่ละสัญญาเท่านั้น โดยมิได้มีข้อกำหนดในทำนองให้คู่สัญญาเหล่านั้นต้องผูกพันตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องหรือให้ถือว่าเป็นคู่สัญญาตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องด้วย ด้วยเหตุนี้ หากเกิดข้อโต้แย้งตามสัญญาใด คู่สัญญาย่อมสามารถดำเนินคดีกันตามข้อตกลงในสัญญานั้น ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องตามสัญญาอื่นด้วย ดังนั้น สัญญาแต่ละฉบับจึงมิได้เกี่ยวข้องโยงใยกันถึงขนาดที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ที่ผู้ร้องอ้างต่อไปว่า คู่สัญญามีเจตนาให้ผู้ร้องเข้าร่วมลงทุนด้วย โดยสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องข้อ 11.1 (ง) ระบุว่า "หากมีเหตุผิดนัดผิดสัญญา หรือเหตุที่อาจนำไปสู่เหตุผิดนัดผิดสัญญาของบริษัท ด. หรือผู้โอน หรือผู้ให้เช่าช่วง หรือผู้ขายใด ๆ ตามสัญญาเช่าช่วง หรือสัญญาโอนสิทธิหน้าที่ หรือตามสัญญาซื้อขายและสัญญาโอนสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสัญญาโครงการแอลอีดีเดิมของบริษัท ด. ที่ทำขึ้นตามข้อ 4 ของสัญญานี้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวให้ถือเป็นเหตุผิดสัญญานี้ของบริษัท ด." จึงเป็นการกำหนดเกี่ยวกับการผิดสัญญาในลักษณะข้ามหรือไขว้กัน โดยหากผิดสัญญาใดสัญญาหนึ่งให้ถือว่าเป็นการผิดสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องด้วยนั้น เห็นว่า สัญญาข้อดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการแอลอีดี อันมีลักษณะเป็นการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัท ด. ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง อันเป็นเรื่องระหว่างบริษัท ด. กับผู้คัดค้านในการร่วมลงทุนเท่านั้น โดยมิได้ระบุให้ผู้ร้องได้รับสิทธิหรือต้องรับผิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ ตามสัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณาในโครงการต่าง ๆ รวมถึงสัญญากู้นั้น ก็มิได้ระบุข้อความในทำนองให้ถือว่าการผิดสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องเป็นการผิดสัญญาเหล่านั้นด้วย ข้ออ้างนี้ของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกและผู้ร้องมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าวนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้ว สัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญในการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ร้องระหว่างคู่สัญญาเพื่อให้ผู้ร้องสามารถบริหารงานดำเนินการได้ กำหนดหน้าที่ต่าง ๆ ให้คู่สัญญาดำเนินการเพื่อให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างคู่สัญญาสามารถประกอบกิจการได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา และหารือถึงความเป็นไปได้ในทางธุรกิจที่จะให้ผู้ร้องลงทุนในทรัพย์สินและสิทธิตามสัญญาโครงการแอลอีดีเดิมของบริษัทดีไลท์ มัลติมีเดีย จำกัด พร้อมสัญญาสัมปทานในอนาคต โดยคู่สัญญาไม่ได้ตกลงว่าจะชำระหนี้ใดแก่ผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะอ้างถึงสัญญาข้อ 4.1 (ช) ที่ตกลงเกี่ยวกับ "Minimum Guarantee" แต่เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาข้อดังกล่าวที่ระบุว่า "คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงและเห็นชอบถึงจำนวน Minimum Guarantee ของยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย (จำนวนเงินตามใบแจ้งหนี้ที่ผู้คัดค้านเรียกเก็บและรับชำระจากลูกค้า) ซึ่งทางผู้คัดค้านเป็นตัวแทนขายให้แก่ผู้ร้องภายใต้สัญญาการให้สิทธิจัดหาลูกค้าเพื่อใช้สื่อโฆษณาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านตามข้อ 3.5 โดยผู้คัดค้านจะพิจารณาให้ Minimum Guarantee จำนวน 100,000,000 บาท ต่อปี ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ ..." จะเห็นได้ว่า สัญญาข้อ 4.1 (ช) เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับยอดขายที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน อันมีลักษณะเป็นการประมาณรายรับจากการลงุทนที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาหรือผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายของผู้ร้อง ทั้งยังไม่อาจถือเป็นหนี้ที่แน่นอน เนื่องจากตอนท้ายของสัญญาข้อนี้ยังกำหนดให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขปลีกย่อยตามสัญญาข้อ 4.1 (ช) (1) ถึง (4) อีก ทั้งตามข้อ 4.1 (ช) (3) คู่สัญญาอาจหารือและปรับ "Minimum Guarantee" ให้ลดลงตามสมควรได้ โดยมิได้แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนาจะชำระหนี้ใดแก่ผู้ร้อง ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงการคาดการณ์ผลจากการลงทุนร่วมกันระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น โดยผู้ร้องมีลักษณะเป็นเพียงตัวแทนของคู่สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ แทนคู่สัญญาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการลงทุนร่วมกัน สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกดังที่ผู้ร้องอ้าง และผู้ร้องก็ไม่มีฐานะเป็นคู่สัญญาหรือบุคคลอันจะมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องมิใช่คู่สัญญาดังกล่าว ผู้ร้องย่อมไม่อาจอาศัยข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าวเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในคดีนี้ย่อมจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อได้ความดังนี้แล้ว กรณีไม่จึงจำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์อื่นของผู้ร้องอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในสำนวนแรก และศาลชั้นต้นให้พิจารณาพิพากษารวมกับสำนวนหลังที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนคำร้องของผู้ร้องในสำนวนแรก จึงเห็นสมควรมีคำพิพากษาให้ครบถ้วน นอกจากนี้ ตามตาราง 1 (1) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) จากคู่พิพาทในลักษณะของคดีคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศหรือคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศนั้น เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากคู่พิพาทที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดหรือคู่พิพาทที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดแล้วแต่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว คดีนี้เป็นกรณีที่ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทต่างฝ่ายต่างยื่นคำร้องในมูลความแห่งคดีเดียวกัน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในมูลคดีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเรื่องเดียวกัน โดยต่างฝ่ายต่างเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ข) เป็นเหตุให้ค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่มิได้แยกยื่นคำร้องกัน กรณีจึงมีเหตุสมควรมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่พิพาทเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทแต่ละฝ่ายได้ชำระไป ทั้งนี้โดยเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคห้า ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้ให้ยกคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องด้วย ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่ผู้ร้องเสียมา 656,530 บาท แก่ผู้ร้องกึ่งหนึ่ง และที่ผู้คัดค้านเสียมา 579,411 บาท แก่ผู้คัดค้านกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ