โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบของกลางและเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 การกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี คดีนี้จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 195 เม็ด และชนิดเกล็ดสีขาวน้ำหนักชั่งไม่รวมถุงบรรจุประมาณ 5.70 กรัม ตามสำเนาหนังสือรับรองของตำรวจภูธรจังหวัดระยองลงวันที่ 18 มกราคม 2564 และสำเนาบันทึกการจับกุมลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เอกสารแนบท้ายอุทธรณ์เพิ่มเติมของจำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายโชคผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดดังกล่าวได้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในการจับกุมนายโชคดังกล่าวไม่ปรากฏในทางนำสืบของพยานโจทก์และคำให้การของจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนชนิดวัตถุเกล็ดสีขาวของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีจำนวน 4 ถุง น้ำหนักสุทธิ 1.727 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 1.698 กรัม ซึ่งมิใช่จำนวนเล็กน้อย ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยก่อนเพิ่มโทษและลดโทษจำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า มีเหตุต้องใช้กฎหมายใหม่ในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 หรือไม่ เห็นว่า เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน แต่มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังให้บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายเดิมซึ่งถูกยกเลิกไปทั้งฉบับ มีผลใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับจนกว่าคดีถึงที่สุด บทสันนิษฐานตามกฎหมายเดิมในมาตรา 15 ที่ว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณที่กำหนดให้สันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงยังมีผลใช้บังคับต่อไปในคดีนี้ที่ยังไม่ถึงที่สุด และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1 นิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงยังคงเป็นความผิดอยู่ แต่นำไปรวมไว้เป็นความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 90, 145 เมื่อตามกฎหมายเดิมมาตรา 15 ประกอบมาตรา 66 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาเพียงปริมาณของยาเสพติดเป็นสำคัญ แต่กฎหมายใหม่ มาตรา 145 บทบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ในการกระทำผิดเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาเพียงปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป แม้ปริมาณที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ได้ระดับหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อกฎหมายใหม่ไม่ได้ให้ศาลลงโทษหนักขึ้นเพียงเพราะปริมาณยาเสพติดให้โทษดังเช่นในกฎหมายเดิม แต่ต้องมีพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้ด้วย จึงจะมีความผิดตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรสองหรือวรรคสามได้ ดังนั้น ถ้าผู้กระทำความผิดมีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรสอง หรือวรรคสามได้ ปัญหาว่า การกระทำของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคใด นั้น คดีนี้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ ปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น เมื่อไม่ปรกฏชัดว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายในราคาเท่าใด จำหน่ายแก่ใครบ้างและจำหน่ายมาแล้วบ่อยครั้งเพียงใด จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้าตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) และเมื่อไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองดังกล่าวเป็นการเป็นการทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนได้อย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) คดีคงฟังได้เพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท อันเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 นั้น เมื่อตามกฎหมายเดิม มาตรา 97 ที่บัญญัติให้ศาลเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเดิมอีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษเช่นเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษทั้งตามกฎหมายเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้วและตามกฎหมายใหม่ได้ แต่เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา ให้นำไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องเพิ่มโทษเพราะกระทำผิดอีกไว้ ก็มิได้หมายความว่า ศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกโดยไม่เข็ดหลาบและโจทก์ได้ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม มาตรา 97 ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 159 วรรคหนึ่ง แล้วด้วย ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยได้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน และปรับ 533,333.33 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 266,666.66 บาท การกักขังแทนค่าปรับและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์