โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 265 และ 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 (ที่ถูก มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม)), 268 (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม)) ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 (ที่ถูก มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม)) เพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์ซื้อและนำเข้าแม่ม้าอีซี่บีทส์ ซึ่งมีลูกติดท้องมาจากการประมูลขายที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่ามีการผสมพันธุ์กับพ่อม้าชื่อแอนโทเนียส ต่อมาแม่ม้าอีซี่บีทส์คลอดลูกม้าอีซี่บีทส์หรือภายหลังชื่อม้ารัชโยธิน เป็นเพศผู้ โจทก์ได้ไปแจ้งลูกม้าเกิดใหม่ตามกฎระเบียบของสำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย โดยระบุพ่อม้าชื่อแอนโทเนียส แม่ม้าชื่ออีซี่บีทส์ วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย มีหนังสือแจ้งโจทก์ถึงผลการตรวจดีเอ็นเอลูกม้าขัดแย้ง โดยระบุว่ามีการดึงขนตรวจดีเอ็นเอสองครั้ง คือวันที่ 4 ธันวาคม 2552 และวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ตามหนังสือดังกล่าวระบุให้โจทก์ตรวจสอบความถูกต้องกับผู้ขายแม่ม้าอีกครั้ง โจทก์จึงดึงขนแม่ม้าและลูกม้าอีซี่บีทส์ และมีการส่งไปตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอที่ห้องแล็บ เวทเจ็น (Vetgen) สหรัฐอเมริกา ผลการตรวจระบุว่าแม่ม้าอีซี่บีทส์ และพ่อม้าแอนโทเนียส อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นแม่และพ่อของลูกม้า และไม่สามารถถูกตัดออกจากการเป็นแม่และพ่อของลูกม้า ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2555 และวันที่ 22 มิถุนายน 2555 โจทก์มีหนังสือข้อความอนุเคราะห์จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการสำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย เพื่อให้ออกเล่มทะเบียนให้แก่ลูกม้าอีซี่บีทส์ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบกลับว่า ไม่สามารถจดทะเบียนให้ลูกม้าจากแม่ม้าอีซี่บีทส์ได้ เพราะผลการตรวจสอบดีเอ็นเอทั้งสองครั้งปรากฏว่าผลขัดแย้ง ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 โจทก์ประสงค์ให้ตรวจดีเอ็นเอลูกม้าอีซี่บีทส์อีกครั้ง จึงนำลูกม้าอีซี่บีทส์ไปดึงขนเก็บเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจดีเอ็นเอที่สมาคมแห่งประเทศไทย ร. และมีการส่งไปตรวจเปรียบเทียบที่ห้องแล็บมหาวิทยาลัย จ. และวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งผลการตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอของแม่ม้าและลูกม้าอีซี่บีทส์ ว่าไม่ขัดแย้งกัน ส่วนผลการตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอของลูกม้าอีซี่บีทส์ และพ่อม้าแอนโทเนียส ทั้งผลการตรวจของห้องแล็บมหาวิทยาลัย จ. ที่มีอยู่กับที่ได้รับมาจากประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาปรากฏว่าขัดแย้ง สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทยจึงไม่สามารถทำการจดทะเบียนให้ลูกม้าอีซี่บีทส์ได้ และในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ได้มีการประชุมของสมาคมแห่งประเทศไทย ร. เพื่อหาทางแก้ไข และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงถึงเรื่องดังกล่าว ต่อมามีมติของคณะกรรมการให้มีการดึงขนของลูกม้าอีซี่บีทส์ เพื่อไปตรวจที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งที่อยู่ของห้องแล็บที่จะส่งตรวจให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่ยอมชำระค่าส่งและยกเลิกการส่งไปตรวจที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 โจทก์ได้ฟ้องร้องสมาคมแห่งประเทศไทย ร. จำเลยที่ 1 และพลเอก บ. ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย คดีหมายเลขดำที่ 2061/2556 ของศาลแพ่ง ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวโจทก์ได้มอบอำนาจให้นาง ร. ภริยาโจทก์ยื่นหนังสือถึงพลเอก บ. ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม ขอแจ้งพ่อพันธุ์ม้าเพื่อการขอตรวจพันธุ์ม้าใหม่ โดยมีการระบุชื่อพ่อม้าจำนวน 12 ตัว และได้มีการส่งตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอของลูกม้าอีซี่บีทส์ กับพ่อม้าจำนวน 12 ตัว ดังกล่าวไปยังห้องแล็บมหาวิทยาลัย จ. วันที่ 21 สิงหาคม 2556 ห้องแล็บมหาวิทยาลัย จ. มีหนังสือรายงานผลการตรวจสอบหาลักษณะดีเอ็นเอของม้าโดยปรากฏผลการตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอของพ่อม้าไดแลน แม่ม้าและลูกม้าอีซี่บีทส์ว่าผลการตรวจไม่ขัดแย้ง ซึ่งแสดงว่าลูกม้าอีซี่บีทส์เป็นลูกม้าของพ่อม้าไดแลน และสำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทยได้รับจดทะเบียนให้ลูกม้าอีซี่บีทส์ และออกสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง โดยระบุชื่อพ่อม้าไดแลน และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว ภายหลังโจทก์ได้รับสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งของม้ารัชโยธินแล้ว โจทก์ได้ส่งขนม้าไปยังสำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศออสเตรเลียและสำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศอินเดีย เพื่อทำการตรวจเปรียบเทียบทางนิติวิทยาศาสตร์ และผลการตรวจปรากฏว่าพ่อม้าของลูกม้าอีซี่บีทส์ คือ พ่อม้าแอนโทเนียส เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ได้มีการส่งขนม้าของม้ารัชโยธินไปยังสำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศออสเตรเลียเพื่อทำการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอว่าตัวอย่างขนม้าของแม่ม้าและลูกม้าอีซี่บีทส์ ตรงกับดีเอ็นเอของพ่อม้าไดแลน หรือพ่อม้าแอนโทเนียส ปรากฏว่า สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศออสเตรเลียได้ส่งขนม้าเข้าตรวจในห้องแล็บ ของมหาวิทยาลัย ม. ประเทศนิวซีแลนด์ ผลการตรวจดังกล่าวปรากฏว่าดีเอ็นเอของพ่อม้าที่ตรงกับลูกม้าอีซี่บีทส์ คือ ดีเอ็นเอของพ่อม้าแอนโทเนียส ส่วนพ่อม้าไดแลน ผลการตรวจปรากฏว่ามีดีเอ็นเอต่างกับลูกม้าอีซี่บีทส์ จึงไม่สามารถเป็นพ่อลูกกันได้
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์นำลูกม้าที่เกิดจากแม่ม้าอีซี่บีทส์ และพ่อม้าชื่อแอนโตนิอุส หรือแอนโทเนียส พร้อมหลักฐานลูกม้าไปจดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 ได้อ้างว่าทำการตรวจสอบดีเอ็นเอถึงสองครั้ง ผลการตรวจดีเอ็นเอลูกม้ากับพ่อม้าไม่ตรงกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่รับจดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ลูกม้าในประเทศไทยให้กับโจทก์ โจทก์ทราบในภายหลังว่าสำนักงานตรวจสอบสายพันธุ์ม้าและโรคติดต่อทางโลหิต คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย จ. ไม่เคยทำการตรวจสอบดีเอ็นเอลูกม้าเทียบกับพ่อม้าแอนโทเนียส ซึ่งเป็นพ่อม้าที่แท้จริงแต่ประการใด แต่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งผลในเอกสารการตรวจดีเอ็นเอ ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ว่าลูกม้ามีดีเอ็นเอไม่ตรงกับพ่อม้าดังกล่าว อันเป็นข้อความอันเป็นเท็จ นอกจากนี้เอกสารใบรับรองการผสมพันธุ์ได้บันทึกการผสมพันธุ์ม้าระหว่างแม่ม้าอีซี่บีทส์ กับพ่อม้าแอนโทเนียส มิได้ทำการผสมพันธุ์กับพ่อม้าไดแลน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกม้าจะมีดีเอ็นเอตรงกับพ่อม้าไดแลน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารรายงานผลการตรวจสอบหาลักษณะดีเอ็นเอของม้า ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2556 จากจำเลยที่ 2 แจ้งว่าผลการตรวจดีเอ็นเอของลูกม้ากับดีเอ็นเอของพ่อม้าไดแลน ไม่ขัดแย้งกัน อันเป็นข้อความอันเป็นเท็จและจำเลยที่ 1 ได้ทำการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย โดยระบุพ่อม้าชื่อไดแลน อันเป็นผลให้ลูกม้าของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนผิดไปจากความเป็นจริง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม เห็นว่า คำฟ้องดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องว่าเป็นการปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นลงในเอกสารฉบับใดขึ้นมาหรือจำเลยที่ 1 กรอกข้อความหรือตัดทอนข้อความในเอกสารฉบับใดซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อื่นหาใช่องค์ประกอบความผิดดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกามาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ออกหนังสือจดหมายที่ 111/2554 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ซึ่งลงนามโดยจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.4 และการที่จำเลยที่ 1 ออกเอกสารการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.14 หรือ จ.41 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย อยู่ในกำกับดูแลของสมาคมแห่งประเทศไทย ร. ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนรูปพรรณพ่อม้า แม่ม้า และลูกม้าที่นำเข้าหรือเกิดในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำเอกสารบรรยายรูปพรรณและบันทึกข้อมูลจำเพาะสำหรับใช้ในการตรวจรูปพรรณม้า เมื่อหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และเอกสารการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.14 หรือ จ.41 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารบางส่วนอาจเป็นข้อความเท็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสารดังกล่าวไม่ เพราะจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารดังกล่าว ส่วนความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไปประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ม้าแข่งตามสำเนาเอกสารหนังสือโปรแกรมม้าแข่ง ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557 ถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมดังกล่าวนั้น ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้จะได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเอกสารดังกล่าวไปลงโฆษณาไว้จริงหรือไม่ ทั้งเมื่อตรวจดูเอกสารดังกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฏข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเอกสารดังกล่าวไปลงโฆษณา พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารดีเอ็นเอโปรไฟล์พ่อม้าไดแลน โดยการนำรหัสดีเอ็นเอโปรไฟล์ของพ่อม้าที่แท้จริงไปใส่เป็นรหัสดีเอ็นเอในเอกสารดีเอ็นเอโปรไฟล์ของพ่อม้าไดแลน แล้ววินิจฉัยว่าเอกสารหมาย จ.14 หรือ จ.41 เป็นเอกสารปลอม การที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารหมายดังกล่าวไปใช้เพื่อแลกกับการที่โจทก์ถอนฟ้องคดีแพ่งจึงเป็นการใช้เอกสารปลอมนั้น เป็นข้อเท็จจริงนอกคำฟ้อง ไม่สามารถนำมารับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้างต้นฟังขึ้น ส่วนฎีกานอกจากนี้ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง