โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 188
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์แยกฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ในปัญหานี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น แต่ถ้ากระบวนพิจารณาใดเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ได้โดยมิได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง อำนาจโดยชัดแจ้งเช่นว่านี้จะระบุให้ไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น..." เช่นนี้ การสละสิทธิ์ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา และกระบวนพิจารณาใดที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความจึงต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ทนายความจึงจะมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแทนตัวความได้ ดังนั้น เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้ นายอุทัย เป็นทนายความดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 มิได้ระบุให้นายอุทัยมีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 นายอุทัยย่อมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้ การที่นายอุทัยลงชื่อเป็นผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้และยื่นต่อศาลชั้นต้น เป็นคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เสียทีเดียวนั้น เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องข้างต้นแล้วให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้อง แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี