ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 58/2560 หมายเลขแดงที่ 123/2562 ฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2562 และคำสั่งของอนุญาโตตุลาการในการแก้ไขคำชี้ขาด ฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลฎีกาเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ในคดีขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใต้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหามีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้ไม่ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนมายังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงไม่ชอบ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องต่อไป แล้วพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง ให้ศาลแรงงานกลางส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 22 เมษายน 2559 ผู้ร้องทำสัญญาจ้างผู้คัดค้านให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารองค์กร (Corporate Chief Executive Officer) เป็นเวลา 4 ปี เริ่มงานวันที่ 1 กันยายน 2559 ค่าจ้างปีละ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาให้ผู้คัดค้านทดลองงาน และกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทไว้โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งข้อ 9.3 มีเจตนารมณ์ในกรณีผู้ร้องบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุที่ให้สิทธิผู้คัดค้านได้รับเงินชดเชย 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือค่าจ้าง 1 ปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน โดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาการทำงาน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านหลังจากผู้คัดค้านทำงานได้เพียง 91 วัน โดยจ่ายเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมให้เป็นเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน และเงินช่วยเหลือ 1 เดือน รวมเป็นเงิน 108,333 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,683,333 บาท ให้แก่ผู้คัดค้าน ก่อนเลิกจ้างผู้ร้องมีหนังสือเตือนผู้คัดค้านตามเอกสาร R22, R30, R31, R34, R41-R43 ซึ่งมีข้อความเป็นการเตือนพฤติกรรมของผู้คัดค้านให้แก้ไขปรับปรุง โดยไม่ได้ระบุการกระทำความผิดของผู้คัดค้านอย่างชัดแจ้ง การเลิกสัญญาของผู้ร้องเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 58/2560 ขอให้ผู้ร้องชำระค่าชดเชย เงินโบนัสค่าลงนามในสัญญา เงินชดเชยวันลาประจำปี ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าประกันสุขภาพ ค่าเดินทางกลับบ้าน ค่าเช่าบ้าน ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอันเนื่องจากการกระทำของผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านและยื่นข้อเรียกร้องแย้งขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหาย 42,825,120.72 บาท แก่ผู้ร้อง วันที่ 14 มิถุนายน 2561 มีการทำข้อตกลงในการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ โดยมีข้อสำคัญให้ติดต่อสื่อสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์พร้อมทั้งส่งเอกสารเป็นกระดาษให้แก่สถาบันอนุญาโตตุลาการในวันเดียวกัน ซึ่งผู้คัดค้านปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาด ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขอัตราดอกเบี้ยจาก "อัตราร้อยละ 7.5" เป็น "อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี" โดยผู้ร้องไม่คัดค้าน วันที่ 19 กันยายน 2562 คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 123/2562 ให้ผู้ร้องจ่ายค่าชดเชย 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินโบนัสค่าลงนามในสัญญา 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินชดเชยวันลาประจำปี 1,805 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเดินทางกลับบ้าน 23,888 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเช่าบ้าน 11,176.47 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 761,869.47 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเลิกจ้างสำหรับค่าชดเชย และนับแต่วันยื่นคำร้องสำหรับเงินอื่น จนกว่าจะมีการจ่ายให้แก่ผู้คัดค้านครบถ้วน โดยอนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยทำความเห็นแย้งไว้ วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าเป็นการแก้ไขคำผิดเล็กน้อยไม่มีผลกระทบต่อคำชี้ขาด จึงอนุญาตให้แก้ไขตามที่ผู้คัดค้านร้องขอโดยมีอนุญาโตตุลาการลงลายมือชื่อเพียงสองคน และมีการจดแจ้งเหตุขัดข้องของอนุญาโตตุลาการที่ไม่ลงลายมือชื่อตามกฎหมาย แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การแก้ไขฝ่ายพยานของพยานปากนางลินดา จากพยานฝ่ายนายจ้างเป็นพยานฝ่ายลูกจ้างให้ถูกต้องไม่มีผลกระทบต่อคำชี้ขาด การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านขอแก้ไขก่อนมีคำชี้ขาดซึ่งผู้ร้องไม่คัดค้าน คำสั่งที่อนุญาตให้แก้ไขคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องดังกล่าวที่ผิดพลาดหรือผิดหลงจึงชอบด้วยกฎหมาย ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านไม่ได้ระบุระยะเวลาทดลองงาน การกำหนดค่าเสียหายในสัญญาจ้างแรงงานข้อ 9.3 ไม่ใช่เบี้ยปรับ หนังสือเตือนของผู้ร้องไม่ใช่หนังสือตักเตือนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุ ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามเจตนารมณ์ของคู่ความ ค่าจ้างวันหยุดประจำปีตามส่วน (ที่ถูก เงินชดเชยวันลาประจำปี) และค่าเดินทางกลับบ้าน ตามสัญญาจ้างแรงงาน มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านเนื่องจากเป็นความเสียหายโดยตรงจากการบอกเลิกสัญญาของผู้ร้อง และมีสิทธิได้รับเงินโบนัสค่าลงนามในสัญญา คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่หยิบยกในประเด็นค่าเสียหายดังกล่าวมาพิจารณาครบถ้วนทุกประเด็น จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีเหตุเพิกถอน ให้ยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เสียก่อนว่า ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยเร็ว และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งตามมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยเร็ว และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 422/2564 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง และให้ศาลแรงงานกลางส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อันเป็นการผิดหลงที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาคดี ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ จึงเห็นควรให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวนั้นเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง เมื่ออุทธรณ์ของผู้ร้องและสำนวนส่งมายังศาลฎีกาแล้ว จึงไม่จำต้องให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับการส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องใหม่อีก และเห็นสมควรพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องตามกฎหมายต่อไป
ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า กระบวนการทำคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไว้ล่วงหน้าโดยไม่มีการปรึกษาหารือกันในคณะอนุญาโตตุลาการมาก่อนแต่อย่างใด อันไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 35 การยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏในคำร้องของผู้ร้อง ย่อมไม่มีประเด็นให้ศาลแรงงานกลางต้องรับฟังถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่ผู้ร้องเพิ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงนี้ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในเรื่องค่าชดเชยไม่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งผู้คัคค้านจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจะต้องทำงานครบ 120 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และแม้สัญญาจ้างแรงงานจะไม่ได้ระบุระยะเวลาการทดลองงานไว้ แต่ผู้ร้องมีข้อบังคับการทำงานเอกสาร HAP 6.16 พนักงานที่ถูกเลิกจ้างในระยะทดลองงานจะไม่ได้ค่าชดเชย ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านภายในระยะทดลองงานหลังจากที่ผู้คัดค้านทำงานเพียง 91 วัน จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การที่อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากและศาลแรงงานกลางตัดสินผู้ร้องว่าจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้คัดค้านจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างเป็นอย่างน้อย แต่กฎหมายมิได้มีข้อห้ามมิให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ หากนายจ้างฝ่าฝืนมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายก็มีผลใช้บังคับได้ คดีนี้ ผู้ร้องทำสัญญาจ้างแรงงาน กับผู้คัดค้าน ข้อ 1 มีกำหนดเวลาจ้าง 4 ปี ข้อ 4.1 ให้ค่าจ้างปีละ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ข้อ 9.3 ผู้ร้องเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุ ผู้คัดค้านจะได้รับค่าชดเชย 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือค่าจ้าง 1 ปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากันเป็นเงินบาท จำนวนนี้ให้ถือเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานของไทย โดยสัญญาไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้คัดค้านจะต้องทำงานขั้นต่ำมานานเท่าใด และไม่มีเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านทดลองงาน ถือได้ว่าผู้ร้องได้สมัครใจทำสัญญาจ้างแรงงาน ปฏิบัติต่อผู้คัดค้าน เรื่องเงินค่าชดเชยสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ สัญญาจ้างแรงงานเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวมีผลผูกพันและใช้บังคับคู่ความได้ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยมีสาเหตุมาจากผู้คัดค้านทำงานไม่เป็นที่พอใจของผู้ร้องและทำงานไม่มีประสิทธิภาพซึ่งผู้ร้องได้ตักเตือนแล้วจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งผู้ร้องจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้คัดค้าน 108,333.33 บาท แต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างของผู้ร้องมิใช่การเลิกจ้างโดยมีสาเหตุและไม่พบเหตุการณ์ใดเชื่อมโยงไปถึงการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 9.2 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดค่าเสียหายของคณะอนุญาโตตุลาการที่นำเงินช่วยเหลือของผู้ร้องจ่ายแก่ผู้คัดค้านมาคำนวณไว้ในส่วนการกำหนดค่าเสียหายอื่นที่ผู้คัดค้านร้องขอ ซึ่งศาลแรงงานกลางให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่มีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง