โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 4, 165, 242, 246 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 4, 5, 159, 203, 207 กับริบบุหรี่ต่างประเทศและรถยนต์เก๋งของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 166, 242, 246 วรรคแรก พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 159, 203 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร และมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่เป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 85,227.80 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 42,613.90 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบบุหรี่ต่างประเทศของกลาง ยกคำขอให้ริบรถยนต์เก๋งของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 242 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 159, 203 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 242 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน และปรับ 191,296 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 95,648 บาท โดยยังคงรอการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ริบรถยนต์เก๋ง ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ให้ริบรถยนต์เก๋งของกลางชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...ยานพาหนะอื่นใด เว้นแต่อากาศยาน หีบห่อ ภาชนะบรรจุ หรือสิ่งใด ๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกํากัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" เมื่อฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งบุหรี่ของกลาง อันเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร และบรรยายฟ้องตอนท้ายว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรจากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปยังจังหวัดระนอง เห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายเป็นที่เข้าใจแล้วว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงฟังได้ว่ารถยนต์เก๋งของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นทรัพย์ที่ให้ริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า รถยนต์เก๋งโดยสภาพเป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้สัญจรไปมาเป็นธรรมดาในชีวิตประจำวันและมิได้มีการดัดแปลงสภาพให้มีช่องลับเพื่อซุกซ่อนบุหรี่ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง นั้น เห็นว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 ต้องการให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร การที่จำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลาง 610 ซอง จากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดระนอง อันเป็นระยะทางข้ามจังหวัด หากไม่มีรถยนต์เก๋งของกลางมาบรรทุกบุหรี่ของกลางจำนวนมากถึง 610 ซอง ย่อมไม่สามารถขนย้ายบุหรี่ของกลางจำนวนมากดังกล่าวได้สำเร็จ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังไม่ได้เสียภาษีและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ริบรถยนต์เก๋งของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน