โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 4, 166, 242, 252 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 18, 62 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 และริบใบพืชกระท่อมของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ และจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2560 (ที่ถูก พ.ศ. 2522 และต้องระบุมาตรา 11 ด้วย) มาตรา 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ปรับคนละ 354,200 บาท ฐานเป็นบุคคลสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ที่ถูก และฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นบุคคลสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง) ปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 178,100 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับได้เกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบของกลาง จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคสอง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสี่มีประการเดียวว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสี่คนละสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า "ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร... สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ" ดังนั้น การลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดหลายคนที่ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรในขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับจึงต้องกำหนดให้ผู้ร่วมกระทำความผิดรับผิดรวมกันเป็นเงินจำนวนสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เมื่อมาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ก็ต้องบังคับเรื่องโทษปรับเช่นเดียวกัน แต่ต่อมาภายหลังได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องฐานร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เห็นได้ว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 บัญญัติไว้แตกต่างจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ไม่มีข้อความว่า "สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ" ดังเช่นพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ดังนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังและใช้ในขณะจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดจึงมีวัตถุประสงค์ลงโทษปรับแก่จำเลยเป็นรายบุคคลโดยไม่พักต้องคำนึงถึงจำนวนรวมของค่าปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ดังเช่นพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิม ไม่อาจนำกรณีของมาตรา 27 กับมาตรา 27 ทวิ ซึ่งอยู่ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ฉบับเดียวกันมาใช้เทียบเคียงได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสี่เป็นเงินจำนวนคนละสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วสำหรับความผิดฐานนี้จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน