โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 นับโทษจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3945/2558 ของศาลชั้นต้น นับโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3972/2556 ของศาลจังหวัดร้อยเอ็ด และให้จำเลยทั้งสี่คืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 7,104,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัท อ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก วรรคแรก (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก วรรคแรก (เดิม)) จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ปรับ 6,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3945/2558 ของศาลชั้นต้น นับโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3972/2556 ของศาลจังหวัดร้อยเอ็ด กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่คืน 7,104,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 คืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่คืน 7,104,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 3 เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อ 2.3, 2.4 และ 2.5 กับให้รับฎีกาของจำเลยที่ 4 ไว้พิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการรับเหมาขนส่งพืชผลทางการเกษตร มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นลูกพี่ลูกน้องกับจำเลยที่ 2 ส่วนนายสงกรานต์ เป็นคู่ค้าที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาขายให้จำเลยที่ 1 ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2558 จำเลยที่ 3 และนายสงกรานต์ติดต่อกับนายสรชัช พนักงานขายของโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะซื้อรถแบ็กโฮจากโจทก์ร่วม วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 นายสรชัชเดินทางไปยังสถานที่ประกอบการของจำเลยที่ 1 พบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อรถแบ็กโฮ 2 คัน และได้ลงลายมือชื่อในใบเสนอราคาที่นายสรชัชจัดทำมาพร้อมมอบเอกสารหลักฐานที่จำเป็นให้แก่นายสรชัชเพื่อเสนอโจทก์ร่วมพิจารณาให้สินเชื่อเช่าซื้อ โดยจำเลยที่ 3 และบิดามารดาของจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาเมื่อโจทก์ร่วมอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว วันที่ 17 กรกฎาคม 2558 นายสงกรานต์เป็นผู้โอนเงินดาวน์งวดแรกสำหรับรถแบ็กโฮที่ให้เช่าชื้อ 2 คัน คันละ 300,000 บาท รวม 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วม วันเดียวกันนั้นนายสรชัชนำรถแบ็กโฮที่ให้เช่าซื้อ 2 คัน ไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ยังสถานที่ประกอบการของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับมอบไว้แทนจำเลยที่ 1 วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 นายสงกรานต์พาจำเลยที่ 4 ซึ่งรับราชการครูอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดมาพบจำเลยที่ 3 ที่ปั้มน้ำมัน ปตท.บ้านบัว จังหวัดร้อยเอ็ด จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับมอบรถแบ็กโฮของโจทก์ร่วมทั้ง 2 คัน ในใบส่งมอบ จากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยอมให้นายสงกรานต์นำรถแบ็กโฮทั้ง 2 คัน ไปได้ อันเป็นการร่วมกันเบียดบังรถแบ็กโฮของโจทก์ร่วมที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ไปเป็นของนายสงกรานต์โดยทุจริต ต่อมานายสรชัชนำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันไปให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และบิดามารดาของจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ บุคคลดังกล่าวไม่ยอมลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่างวดเช่าซื้อ โดยอ้างว่ามีการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 4 และรถแบ็กโฮอยู่ที่นายสงกรานต์แล้ว หลังจากนั้นนายสงกรานต์ติดต่อนายสรชัชขอเปลี่ยนผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 4 นายสรชัชจึงไปรับสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 4 มาจากจำเลยที่ 4 แต่เอกสารดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงผู้เช่าซื้อใหม่ได้ โจทก์ร่วมได้ติดตามหารถแบ็กโฮทั้ง 2 คันแล้วแต่ไม่พบ
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประการแรกว่า การมอบอำนาจช่วงของโจทก์ร่วมตามหนังสือมอบอำนาจช่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุให้ฟ้องคดีจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่หนังสือมอบอำนาจช่วงกลับระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ถูกต้อง อีกทั้งหนังสือมอบอำนาจช่วงไม่ได้ประทับตราของโจทก์ร่วมตามข้อกำหนดที่โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนไว้ จึงไม่สมบูรณ์ ปัญหาตามฎีกาข้อนี้เกี่ยวพันถึงอำนาจฟ้องคดีของโจทก์ อันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 เห็นว่า โจทก์ร่วมโดยนายวัชรกฤษณ์ และนายชลิต กรรมการของโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทมอบอำนาจให้นายบริพัฒน์ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมหลายข้อ โดยข้อ 2 ให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา เป็นโจทก์ร่วม และข้อ 6 ให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนตามความจำเป็นในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบหมาย จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้นายบริพัฒน์ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมได้ โดยไม่จำกัดตัวบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดี และอำนาจของนายบริพัฒน์ดังกล่าวยังสามารถมอบอำนาจช่วงได้อีกด้วย ฉะนั้น การที่นายบริพัฒน์มอบอำนาจช่วงให้นายชยุต แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก รวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและเป็นโจทก์ร่วม จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยชอบภายในขอบอำนาจที่นายบริพัฒน์ได้รับมอบมา แม้ตามสำเนาหนังสือรับรองจะมีเงื่อนไขให้กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ร่วมได้ก็ตาม แต่การมอบอำนาจช่วงมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมีการประทับตราสำคัญของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรอง เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุให้การมอบอำนาจช่วงต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย การมอบอำนาจช่วงโดยไม่ประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว นายชยุตผู้รับมอบอำนาจช่วงย่อมมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกแทนโจทก์ร่วม มีผลให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 3 และของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประการต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า การแจ้งความของนายชยุต ผู้รับมอบอำนาจช่วง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย นายชยุตเพิ่งจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 เกิน 3 เดือน นับแต่เดือนกันยายน 2558 ที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน พนักงานสอบสวนบันทึกข้อความที่รับแจ้งจากนายชยุตไว้ว่า นายชยุตมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เรื่อง กล่าวโทษดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 นายสงกรานต์ และจำเลยที่ 4 จากเหตุที่โจทก์ร่วมได้ขายรถแบ็กโฮ 2 คัน ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ต่อมาไม่สามารถติดตามหารถแบ็กโฮที่ขายให้ได้ ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ไม่มีการส่งค่างวด ถูกผู้เช่าซื้อปฏิเสธ จึงมาลงบันทึกประจำวันไว้ดังกล่าว ร้อยตำรวจโทประสิทธิ์พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งนายชยุตเป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ร่วมไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย แต่วันนี้ผู้แจ้งไม่พร้อมที่จะให้ปากคำและจะมาให้การในวันต่อไป ดังนี้ แม้พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน แต่พนักงานสอบสวนก็รับเรื่องไว้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป และจากข้อความที่พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งบันทึกไว้ เมื่ออ่านประกอบกับหนังสือมอบอำนาจช่วงที่นายชยุตนำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนในการแจ้งความซึ่งระบุมอบอำนาจให้นายชยุตแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในฐานความผิดยักยอกหรือความผิดอาญาอื่นใดแล้ว พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้รับโทษ การแจ้งความของนายชยุตดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 หาใช่เป็นแต่การแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้โดยยังไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาโต้แย้งไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในเดือนกันยายน 2558 การที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประการต่อไปว่า โจทก์ร่วมนำสืบสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์ร่วมมิได้ระบุพยานเอกสารดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยาน จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 229/1 วรรคสี่ ปัญหาตามฎีกาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 เห็นว่า รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าคดีโจทก์ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้วดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้อง ทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารฉบับดังกล่าวรวมอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ อันเป็นสรรพเอกสารตามบัญชีระบุพยานของโจทก์อันดับที่ 27 นั่นเอง เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยระบุไว้ชัดเจนว่าขอถือเอาบัญชีระบุพยานและสรรพเอกสารในคดีนี้ของโจทก์เป็นของโจทก์ร่วมด้วย กรณีถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 229/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์ร่วมจึงชอบที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการถามติงพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากร้อยตำรวจเอกประสิทธิ์ พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อยืนยันถึงวันที่ที่แน่นอนซึ่งโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ได้ หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะขออนุญาตศาลชั้นต้นซักถามร้อยตำรวจเอกประสิทธิ์เพิ่มเติม หรือนำพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสืบหักล้างในภายหลัง กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานในลักษณะจู่โจมทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีดังข้ออ้างในฎีกา ดังนั้น สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานจึงมิใช่พยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 229/1 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานยักยอกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการเบียดบังรถแบ็กโฮของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสงกรานต์ ในอันที่จะเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดคดีนี้ นายสงกรานต์และนายสรชัชร่วมกันหลอกลวงจำเลยที่ 1 จนได้รถแบ็กโฮไปด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อในใบส่งมอบแต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้ ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่า นายสรชัชนำรถแบ็กโฮมาส่งมอบยังสถานที่ประกอบการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 รับมอบไว้แทน ในวันดังกล่าวนายสงกรานต์ประสงค์จะนำรถแบ็กโฮไปใช้นอกสถานที่ประกอบการของจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นคนจ่ายเงินดาวน์ แต่จำเลยที่ 2 ให้นายสงกรานต์หาคนใหม่มาซื้อ วันรุ่งขึ้นนายสงกรานต์บอกว่าหาคนซื้อคนใหม่ได้แล้วคือ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นครูอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด วันเดียวกันนายสงกรานต์พาจำเลยที่ 4 มาพบจำเลยที่ 3 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด จึงให้จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อในใบส่งมอบ หลังจากจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับมอบรถแล้ว นายสงกรานต์ได้นำรถแบ็กโฮออกไป เห็นว่า เหตุประการหนึ่งที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยอมให้นายสงกรานต์นำรถแบ็กโฮทั้ง 2 คัน ไปจากการครอบครองของจำเลยที่ 1 เป็นเพราะนายสงกรานต์ได้จัดให้จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับรถแล้วมอบใบรับรถให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ร่วม ดังนี้ การที่นายสงกรานต์ได้รับรถแบ็กโฮไปเป็นของตนเองจึงเกิดจากการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของจำเลยที่ 4 ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าเกิดจากการที่นายสงกรานต์และนายสรชัชร่วมกันหลอกลวงจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 4 ฎีกาด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เป็นการกระทำอันหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 59 อันบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา ดังนั้น การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด อันจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาที่จะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดนั้นด้วย แต่ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายสงกรานต์ที่ติดต่อเช่าซื้อรถแบ็กโฮจากโจทก์ร่วมแทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย จำเลยที่ 4 เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีในขั้นตอนที่นายสงกรานต์จะนำรถแบ็กโฮไปจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 4 เบิกความว่า รู้จักนายสงกรานต์ซึ่งมีบ้านห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร และภริยาของนายสงกรานต์ติดต่อจำเลยที่ 4 ว่าประสงค์จะนำรถแบ็กโฮไปทำงานขอให้ลงลายมือชื่อรับรถ จำเลยที่ 4 จึงลงลายมือชื่อรับรถในใบส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 4 ให้การในชั้นสอบสวนว่า ภริยาของนายสงกรานต์เป็นญาติของสามีจำเลยที่ 4 พิจารณาใบส่งมอบรถดังกล่าวแล้วมีข้อความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถแบ็กโฮให้จำเลยที่ 4 เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ส่วนที่นายสรชัชไปพบจำเลยที่ 4 แจ้งให้ทราบว่านายสงกรานต์ให้มารับเอกสารหลักฐานของจำเลยที่ 4 เพื่อนำไปใช้ในการเปลี่ยนผู้เช่าซื้อรถแบ็กโฮจากจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากนายสงกรานต์ได้รับรถแบ็กโฮไปแล้วหลายวัน อีกทั้งนายสงกรานต์เป็นคนนำรถแบ็กโฮไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้รับประโยชน์ใด ๆ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวมายังไม่อาจชี้ชัดว่าจำเลยที่ 4 ร่วมรู้เห็นเกี่ยวกับที่มาที่ไปของรถแบ็กโฮที่รับมอบ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า หลังจากนายสงกรานต์นำรถแบ็กโฮไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายสรชัช นายสงกรานต์ และจำเลยที่ 4 จนพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ยื่นฟ้องนายสรชัช ในความผิดฐานฉ้อโกงรถแบ็กโฮ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 656/2559 ของศาลชั้นต้น แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้เบิกความตอบโจทก์ถามติงในคดีดังกล่าวว่า ตอนแรกจำเลยที่ 2 เข้าใจว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้จะมาทำสัญญาเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 1 จึงดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 4 ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 4 เพราะเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ถูกนายสงกรานต์หลอกลวงให้ลงลายมือชื่อรับรถ เนื่องจากนายสงกรานต์ต้องการนำรถไปขุดดินที่อื่น พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับรถแบ็กโฮให้นายสงกรานต์โดยรู้หรือไม่ว่านายสงกรานต์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดอาญา กรณีต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดยถือว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีเจตนาที่จะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานยักยอก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนและให้จำเลยที่ 4 คืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4