โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติจีน ได้บังอาจประกอบอาชีพการตัดผมอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยกรรไกรปัตเลี่ยนมือ ๑ อัน กรรมไกรแหลม ๑ อัน มีดโกน ๑ เล่ม แปรงอ่อน ๑ อัน ที่ปัดผม ๑ อัน ผ้าคลุม ๑ ผืน หวี ๑ เล่ม ธนบัตร ๕ บาท ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดผม และได้มาโดยการกระทำความผิดเป็นของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓, ๔, ๕ พระราชกฤษฎีกากำหนดอาชีพและวิชาชีพไว้สำหรับเฉพาะคนไทย พ.ศ.๒๔๙๒ มาตรา ๔, ๕ ปรับ ๑๐๐ บาทของกลางไม่ริบ เพราะการกระทำของจำเลยไม่รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพนั้น ไม่เข้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การประกอบอาชีพการตัดผมไม่ใช่เป็นความผิดในตัวจากการกระทำนั้น เป็นเรื่องทางการไม่อนุญาตให้จำเลยกระทำได้ ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินอันควรริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ.๒๔๘๔ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ.๒๔๙๒ บัญญัติไว้ว่า อาชีพการตัดผมให้เป็นอาชีพสำหรับเฉพาะคนไทย จำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวไม่มีสิทธิที่จะประกอบอาชีพตัดผมโดยเด็ดขาดและไม่มีทางที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพตัดผมได้เลย เพราะทางการสงวนให้เป็นอาชีพเฉพาะคนไทยเท่านั้น ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ในตัว ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดเพราะไม่ได้รับอนุญาต ของกลางรายนี้จึงเป็นของที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดและได้มาโดยได้กระทำความผิด ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ซึ่งนอกจากจะริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ยังให้ศาลมีอำนาจสั่งริบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓ อีกด้วย (อ้างนัยฎีกาที่ ๕๕๖/๒๕๐๕) พิพากษาแก้ ให้ริบของกลาง