โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,147,611.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 9,969,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าเสียหาย 14,714,036.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรก โจทก์จำนำใบรับเงินฝากประจำ และจำนำเงินฝากประจำไว้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันหนี้ของบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืน ระบุในข้อ 1 และข้อ 2 ไว้ชัดเจนว่า ขอจำนำใบรับเงินฝากประจำ และจำนำสมุดเงินฝากประจำ เพื่อประกันหนี้สินต่าง ๆ ทุกประเภทของผู้จำนำ (โจทก์) ทั้งที่มีอยู่แล้วและจะมีต่อไปในอนาคต เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด ไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสำเนาหนังสือสัญญาค้ำประกัน เช่นนี้ถือว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอยู่ในความหมายของหนี้สินต่างๆ ทุกประเภทในข้อ 2 ด้วย นอกจากนี้โจทก์เคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอนำเงินฝากประจำตามสมุดเงินฝากประจำเพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนที่โจทก์จำนำใบรับเงินฝากประจำและสมุดเงินฝากประจำเพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันหนี้ของบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด จริง สำหรับหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยกขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกานั้น เป็นหนี้รายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด แต่ประการใด จึงไม่มีข้อที่จะต้องนำมาพิจารณา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินจากใบรับเงินฝากประจำ และสมุดเงินฝากประจำเพื่อชำระหนี้ของบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด ที่โจทก์ค้ำประกันหรือไม่ และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อันต้องห้ามมิให้หักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืน จะไม่ใช่จำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วย่อมใช้บังคับได้ เมื่อตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 5 และ ข้อ 7 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ผู้รับจำนำ (จำเลยที่ 1) ถอนเงินเพื่อชำระหนี้ของผู้จำนำ (โจทก์) ทั้งไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนำ (จำเลยที่ 1) ที่จะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ประกอบกับตามสำเนารายงานการประชุม โจทก์ก็ยอมรับว่าบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด เป็นหนี้ค้างชำระจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยอมนำเงินเข้าฝากเพื่อชำระหนี้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิถอนเงินฝากประจำตามบัญชีเงินฝากทั้งสองประเภทดังกล่าวได้ตามสัญญา อนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 จะได้ฟ้องโจทก์และบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด กับพวกรวม 4 คน ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและโจทก์กับบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด กับพวกรวม 4 คนจะให้การต่อสู้คดี แต่ก็ปรากฏว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ซึ่งโจทก์และบริษัทอีส จีโอ - ซิสเต็มส์ จำกัด กับพวกรวม 4 คน จะได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาก็ตาม แต่ในที่สุดก็ปรากฏว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 6 มีนาคม 2551 ให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน เป็นจำนวน 51,375,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้นำเงินจำนวน 34,408,554.79 บาท หักชำระหนี้ก่อนด้วย ปรากฏรายละเอียดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2551 ดังนี้ หนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองจึงหาใช่เป็นหนี้มีข้อต่อสู้อันจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้ไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ