โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 266, 268, 334, 335
ระหว่างพิจารณา บริษัท ฟ. ผู้เสียหาย นายวีรวัฒน์ และธนาคาร ท. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ สำหรับผู้เสียหายและนายวีรวัฒน์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนธนาคาร ท. ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาใช้ตั๋วเงินปลอม โดยเรียกว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ โดยโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 993,555 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และโจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 3 ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จำนวน 360,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยให้การรับสารภาพคดีส่วนอาญา และให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4), 335 (11) วรรคแรก (เดิม), 335 (11) วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักเช็คที่เป็นทรัพย์ของนายจ้าง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 47 กระทง ฐานปลอมตั๋วเงินและและใช้ตั๋วเงินปลอม เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้ตั๋วเงินปลอม ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง กับฐานลักเงินสดที่เป็นทรัพย์ของนายจ้างเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 47 กระทง จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานลักเช็คที่เป็นทรัพย์ของนายจ้าง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 282 เดือน ฐานใช้ตั๋วเงินปลอม คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 282 เดือน รวมจำคุก 564 เดือน แต่ความผิดที่จำเลยกระทำมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงให้จำคุกเพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 126,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้อง (วันที่ 7 พฤษภาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ร่วมที่ 3 กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานลักเช็คที่เป็นทรัพย์ของนายจ้าง ฐานปลอมตั๋วเงิน ฐานใช้ตั๋วเงินปลอม และฐานลักเงินสดที่เป็นทรัพย์ของนายจ้าง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท รวม 47 กระทง เป็นจำคุก 47 ปี และปรับ 940,000 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 282 เดือน และปรับ 470,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง เป็นเวลา 2 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง 47 ครั้ง ซึ่งในการลักเช็คแต่ละครั้งย่อมเป็นเจตนาแยกต่างหากจากกันเป็นครั้ง ๆ ไป สำหรับความผิดฐานปลอมเช็คและใช้เช็คปลอมเป็นการกระทำความผิดคนละขั้นตอนกัน จำเลยปลอมและใช้ตั๋วเงินปลอมและลักเอาเงินสดของนายจ้างไปรวม 47 ครั้ง เป็นความผิด 47 กระทง แยกต่างหากจากความฐานลักทรัพย์นายจ้าง (ลักเช็ค) ศาลชอบที่จะลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยเรียงกระทงลงโทษเป็นกระทงความผิดไป และพฤติการณ์ของจำเลยในการกระทำหลายกรรมต่อเนื่องกัน แม้จะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้วก็ตาม การรอการลงโทษอาจไม่ช่วยให้หลาบจำ และกลับมากระทำความผิดซ้ำอีกในอนาคตจึงไม่สมควรรอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า การที่จำเลยลักเช็คและลักเงินสดของนายจ้างเป็นความผิดแยกต่างหากจากกันและต้องเรียงกระทงลงโทษเป็นแต่ละกระทงความผิด หรือไม่เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในการลักเอาเช็คธนาคาร ท. ของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไปกรอกข้อความ และปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ทำให้พนักงานของโจทก์ร่วมที่ 3 หรือผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าลายมือชื่อปลอมดังกล่าวเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง จึงจ่ายเงินตามเช็คและจำเลยได้เงินตามเช็คไป แม้การกระทำต่าง ๆ จะแยกเป็นขั้นตอนตั้งแต่ลักเอาเช็คมาปลอมข้อความและปลอมลายมือชื่อ ตลอดจนนำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวคือมุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันที่ต้องเรียงกระทงลงโทษไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยกระทำการลักเช็ค ปลอมเช็ค และนำเช็คไปเรียกเก็บเงินหลายครั้งก็ตามแต่จำเลยได้สำนึกในการกระทำแล้ว โดยได้บรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จนเป็นที่พอใจและแก่โจทก์ร่วมที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเมื่อพิเคราะห์ถึงประวัติและรายงานการสืบเสาะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความประพฤติในทางเสื่อมเสียมาก่อน ทั้งจำเลยมีครอบครัวและมีบุตรต้องอุปการะเลี้ยงดู ถือได้ว่ามีเหตุอันควรปรานี เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามาในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาในเรื่องนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษายืน แต่สำหรับดอกเบี้ยในต้นเงินที่ต้องชำระแก่โจทก์ร่วมที่ 3 ให้จำเลยชำระอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังจากนั้นให้ชำระอัตราร้อยละ 5 ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนตามที่กระทรวงการคลังตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ขอไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5