โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 23, 36, 45, 73, 78, 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบวัตถุอันตรายของกลาง และมีคำสั่งให้กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมวัตถุอันตรายของกลาง ทำลาย หรือจัดการตามที่เห็นสมควรต่อไป และให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุอันตรายของกลางร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายในการขนส่งและในการทำลายวัตถุอันตรายของกลาง รวมเป็นเงิน 24,400,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 45 (4), 73, 78 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 45 (4), 78 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ริบวัตถุอันตรายของกลาง และให้กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมวัตถุอันตราย ทำลาย หรือจัดการวัตถุอันตรายของกลางตามที่เห็นสมควรต่อไป และในกรณีที่ต้องทำลายให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุอันตรายของกลางร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายในการขนส่งและในการทำลายวัตถุอันตรายของกลางตามอัตราค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 2,400,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายในการขนส่งและทำลายของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ได้สั่งนำเข้าคาร์โบฟูราน น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ไซโปรโคนาโซล น้ำหนัก 100 กิโลกรัม อิมิดาโคลพริด น้ำหนัก 2,000 กิโลกรัม ไพมีโทรซีน น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ไทอะโคลพริด น้ำหนัก 100 กิโลกรัม และเมโทมิล น้ำหนัก 16,000 กิโลกรัม จากผู้ขายในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดรายชื่อของวัตถุอันตรายที่กระบวนการผลิตและลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเป็นที่ทราบแน่ชัดโดยทั่วไป พ.ศ. 2543 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่ได้ขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. มีจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญกระทำการแทนได้ และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 นายทะเบียนได้ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ออกจากทะเบียน ทำให้มีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากการสั่งนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของกลางคดีนี้นั้น เป็นการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เท่านั้น จำเลยที่ 1 เพียงแต่ลงลายมือชื่อในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนตามกฎหมาย ไม่ได้ลงชื่อในฐานะส่วนตัว เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากแยกจากจำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาด เฉพาะห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เท่านั้นที่เป็นผู้กระทำความผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. จะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การกระทำหรือการแสดงออกของนิติบุคคลก็ต้องแสดงออกโดยผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลตามกฎหมายนั่นเอง การบริหารงานของนิติบุคคลหรือการกระทำนิติกรรมใด ๆ ของนิติบุคคล ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลผูกพันกันในทางแพ่ง กฎหมายจึงได้มีบทบัญญัติไว้ให้ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทน โดยเฉพาะห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนในกรณีนี้ก็คือจำเลยที่ 1 เท่านั้น เนื่องจากเป็นผู้ลงลายมือชื่อกระทำการแทนพร้อมประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ในทางอาญาจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้อยู่เป็นอย่างดีในขณะกระทำการดังกล่าวแล้วว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. มีเจตนาต้องการกระทำการใด การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. นั่นเอง เมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดต่อกฎหมายด้วยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. นั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏแน่ชัดว่า การสั่งนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของกลางคดีนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กระทำการโดยจำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนเพียงแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วย แม้ตามหนังสือรับรองจะระบุว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. มี 2 คน คือจำเลยที่ 1 และที่ 2 และการกระทำนิติกรรมใด ๆ ให้มีผลผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัด ให้หุ้นส่วนผู้จัดการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อในเอกสารการนำเข้าของกลางด้วยเช่นนี้ โจทก์ซึ่งกล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดคดีนี้จึงต้องเป็นฝ่ายหาพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า ความจริงเป็นไปตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีเพียงนายสัญญา ผู้รับมอบอำนาจจากกรมวิชาการเกษตรให้ไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีนี้เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงที่พยานปากนี้ได้รู้เห็นมาด้วยตนเองก็เฉพาะที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุเท่านั้น เช่น ขณะที่มีการยึดและตรวจสอบของกลาง แต่ในขณะที่เกิดเหตุที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดนั้น พยานไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยเลย น่าเชื่อว่าเหตุที่มีการดำเนินคดีนี้กับจำเลยที่ 2 ก็คงเป็นเพราะเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. นั่นเอง แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 แม้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่ก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อในการทำนิติกรรมสั่งซื้อนำเข้าของกลางคดีนี้แต่อย่างใด และหากพิจารณาใบแจ้งหนี้ที่ผู้ขายสินค้าของกลางคดีนี้ส่งถึงห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในเอกสารนั้น จำเลยที่ 2 ก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด เนื่องจากไม่ได้ทำธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551 แล้ว ปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน และยืนยันในชั้นอุทธรณ์ว่าลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 กับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเอกสารอื่น ๆ ที่เคยลงไว้ เช่น คำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและคำให้การชั้นสอบสวน หรือเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีนี้ก็จะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันได้เลย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานใดแสดงให้เห็นได้เลยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมา คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายในการขนส่งและทำลายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของกลางตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ซึ่งโจทก์อ้างในฎีกาว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ข้อ. 4 (1) กำหนดให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายตามบัญชี 1 ซึ่งของกลางคดีนี้เป็นวัตถุอันตรายตามบัญชี 1 จึงอยู่ในอำนาจดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งและทำลายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของกลางตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 นั้น เห็นว่า การสั่งนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนคดีนี้ นอกจากจะเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามฟ้องแล้ว ยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 อีกด้วย ซึ่งในส่วนของความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากนายปนิธิ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ มีหน้าที่พิจารณาความผิดเกี่ยวกับศุลกากรบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ยืนยันว่าของกลางคดีนี้ถูกยึดที่ท่าเรือแหลมฉบังโดยศุลกากรแหลมฉบัง ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นการกระทำความผิดฐานนำเข้าสินค้าโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดและฐานยื่นใบขนสินค้าโดยสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และมาตรา 99 แต่เนื่องจากผู้กระทำความผิดที่นำเข้าของกลางคือห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ยินยอมมอบของกลางทั้งหมดให้กรมศุลกากรเพื่อระงับคดีและผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังพิจารณาอนุมัติให้ระงับคดีแล้วจึงทำให้ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ระงับไป ของกลางจึงอยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรที่จะจำหน่ายต่อไปได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสถานีพัฒนาที่ดิน กรุงเทพมหานคร ขอรับการสนับสนุนของกลางเพื่อใช้เป็นวัสดุสำหรับทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ทำบันทึกส่งมอบของกลางให้แก่สถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 กรมพัฒนาที่ดินไปแล้ว แม้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมจะกำหนดให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมของกลางซึ่งเป็นวัตถุอันตรายตามบัญชี 1 แต่เมื่อของกลางคดีนี้เป็นของกลางในคดีที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรมศุลกากรด้วย เมื่อได้มีการจำหน่ายของกลางไปโดยชอบตามอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากรแล้ว ผู้กระทำความผิดหรือจำเลยทั้งสองย่อมไม่จำต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งและทำลายของกลางอีกต่อไป เนื่องจากไม่มีของกลางให้ขนส่งและทำลายอยู่ในความครอบครองของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกต่อไปแล้ว หากกรมวิชาการเกษตรเห็นว่ากรมศุลกากรไม่มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับของกลางก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานทั้งสองซึ่งเป็นส่วนราชการด้วยกันต้องดำเนินการต่อกันเอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้ยกคำขอในส่วนนี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า วัตถุอันตรายของกลางคดีนี้มีจำนวนมาก ตามบันทึกและภาพถ่ายทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินการนำเข้ามาเพื่อประโยชน์ในทางการค้าอันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะ การนำเข้าของกลางซึ่งเป็นวัตถุอันตรายหน่วยงานของรัฐได้วางกฎระเบียบ วิธีการ เป็นแนวปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาชีพทำการค้าในเรื่องเกี่ยวกับวัตถุอันตรายย่อมต้องทราบดีและควรต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของทางราชการ การหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการให้ถูกต้องดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อสังคมส่วนรวมได้เป็นอย่างมาก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือเป็นเรื่องร้ายแรง เหตุผลส่วนตัวที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในฎีกายังไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน