โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8604, 18902 และ 18901 ซึ่งเดิมที่ดินทั้งสามแปลงนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกันตามโฉนดเลขที่ 8604ที่ดินของโจทก์ทั้งสามถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โดยด้านทิศเหนือที่ดินของโจทก์ที่ 1ตามโฉนดเลขที่ 8604 ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 8605 ซึ่งมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน 6 คนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินด้านทิศใต้ที่ติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้ด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ที่ 1 เคยมีทางสาธารณะ แต่ปัจจุบันไม่สามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมาได้แล้ว เนื่องจากเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วทางราชการได้ขุดเป็นลำเหมืองระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีน้ำไหลตลอดปี เมื่อปี 2526 กรมชลประทานขุดคลองชลประทานชื่อ"คลองชลประทานเจ้าเจ็ด-บางยี่หน สาย 1" ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 8605 โจทก์ทั้งสามได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินโดยโจทก์ที่ 1 ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยด้วย เมื่อปี 2527 โจทก์ที่ 1 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8605 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทำนาแต่เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจึงได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน ถมที่ดินทำเป็นทางเดินในที่ดินที่เช่าจากจำเลยที่ 1 กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร ไปสู่คันคลองชลประทานเจ้าเจ็ดบางยี่หน สาย 1ทั้งได้ขอถมที่ดินต่อไปอีกกว้างประมาณ 2 เมตร สำหรับเป็นที่จอดรถยนต์ผู้มาติดต่อขอซื้อผลิตผลเกษตรจากโจทก์ทั้งสามด้วยจำเลยทั้งสองอนุญาตเมื่อปี 2528 โจทก์ที่ 1 ฝังท่อน้ำใต้คันคลองชลประทานเจ้าเจ็ด-บางยี่หน สาย 1 มายังบ่อพักน้ำที่ได้ขุดไว้ในที่ดินของกรมชลประทานเพื่อนำน้ำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งโดยได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองขอตั้งเครื่องสูบน้ำและวางท่อในที่ดินของจำเลยที่ 1 มายังที่ดินของโจทก์ที่ 1 ด้วยปลายปี 2528 จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาเช่า แต่ยังยอมให้โจทก์ทั้งสามใช้ที่ดินของจำเลยทั้งสองที่โจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้ดังกล่าวต่อไปจนกระทั่งปี 2537 จำเลยทั้งสองห้ามโจทก์ทั้งสามไม่ให้ใช้ที่ดินดังกล่าวอีกต่อไปโดยจะให้โจทก์ทั้งสามไปใช้ทางเดินที่ผ่านประตูหน้าบ้านของจำเลยทั้งสอง ซึ่งไม่เป็นการสะดวกแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อเดือนตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสองใช้รถมาตักดินบริเวณที่โจทก์ที่ 1 ใช้เป็นที่จอดรถ และทำให้ท่อระบายน้ำที่ฝังไว้เสียหาย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท ต่อมาระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2538จำเลยทั้งสองนำต้นไม้มาปลูกบนทางเดินและใช้ลวดหนามปิดกั้นทางเดิน ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่อาจออกไปสู่คลองชลประทานเจ้าเจ็ด-บางยี่หน สาย 1 ได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามไม่มีทางอื่นออกไปสู่ทางสาธารณะเพราะถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมนอกจากทางเดินในที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้เท่านั้นที่ถือว่าเป็นทางจำเป็น โจทก์ทั้งสามได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองเปิดทางจำเป็นดังกล่าวโดยโจทก์ที่ 1 เสนอจะให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยทั้งสองปีละ 1,200 บาท แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้พิพากษาว่า ทางเดินกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ18 เมตร ที่โจทก์ที่ 1 ทำไว้ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางจำเป็นให้จำเลยทั้งสองรื้อลวดหนามและถอนต้นมะม่วง 8 ต้น ออกไปจากทางดังกล่าว ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนทางจำเป็นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสามตั้งเครื่องสูบน้ำจากบ่อพักน้ำผ่านท่อระบายน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้เช่นเดิม โดยให้จำเลยทั้งสองซ่อมท่อระบายน้ำที่ทำแตกให้ดีเช่นเดิม ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซ่อมเองโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยทั้งสองใช้น้ำจากบ่อพักน้ำที่โจทก์ที่ 1ได้ขุดไว้บริเวณเขตที่ดินของกรมชลประทาน ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท ถัดจากเดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตาม ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายที่นำรถมาตักดินบริเวณที่จอดรถยนต์ที่โจทก์ที่ 1ทำไว้เป็นเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้แบ่งโฉนดกันเป็นส่วนสัดแล้ว เฉพาะที่ดินของโจทก์ที่ 1 เท่านั้นที่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสอง แต่ที่ดินของโจทก์ที่ 1ทางด้านทิศตะวันตกติดกับทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งชาวบ้านรวมทั้งโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองเคยใช้เป็นทางเข้าออกมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว ที่ดินของโจทก์ทั้งสามมิใช่ที่ดินที่ถูกล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะแต่อย่างใดโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ทางเดินกว้าง 2.50 เมตร ด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 8605 ตำบลกฤษณา อำเภอบางปลาม้าจังหวัดสุพรรณบุรี ของจำเลยที่ 1 ติดกับที่ดินโจทก์ที่ 1โฉนดเลขที่ 8604 ด้านทิศเหนือ เริ่มตั้งแต่ที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันออกไปตามที่ดินของจำเลยที่ 1 ขนานกับที่ดินโจทก์จนถึงรั้วลวดหนามแล้วยาวขนานกับรั้วลวดหนามจนถึงประตูรั้วบ้านของจำเลยทั้งสองเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกจนถึงถนนคันคลองชลประทานเจ้าเจ็ด - บางยี่หน สาย 1 เป็นทางจำเป็นคำขอของโจทก์นอกจากนี้
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8604,18902 และ 18901 ตามลำดับ ซึ่งเดิมที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันตามโฉนดเลขที่ 8604 เมื่อแบ่งแยกที่ดินกันแล้ว ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ทางด้านทิศเหนือติดกับที่ดินของนายพยนต์ตามโฉนดเลขที่ 8606 ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ตามโฉนดเลขที่ 8605 ซึ่งมีจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินส่วนด้านทิศใต้ที่ติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 เมื่อปี 2526ทางราชการขุดคลองชลประทานเจ้าเจ็ด-บางยี่หน สาย 1ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวและโจทก์ที่ 1ได้เช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ เพื่อทำนาแล้วทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ไปสู่ถนนคันคลองชลประทานเจ้าเจ็ด - บางยี่หน สาย 1 ต่อมาเมื่อสัญญาเช่าเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองก็ยังคงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทออกไปสู่ถนนคันคลองชลประทานดังกล่าวได้เช่นเคย จนกระทั่งปี 2537จำเลยทั้งสองจึงห้ามโจทก์ใช้ทางพิพาทอีกต่อไป แล้วทำรั้วลวดหนามปิดกั้นไว้
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า ทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์เคยมีทางสาธารณะอยู่แต่ได้ขุดเป็นลำเหมืองสำหรับปล่อยน้ำทิ้งมานานประมาณ 20 ปีแล้วปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ไม่มีน้ำตลอดทั้งปี ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ในลำเหมืองมีต้นหญ้าปล้องและต้นปรือขึ้นอยู่เต็มทั้งตามรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นก็ปรากฏว่าลำเหมืองดังกล่าวมีสภาพตื้นเขินและไม่สามารถใช้เรือได้ทางดังกล่าวจึงไม่เป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 นอกจากนี้แล้วก็ยังมีทางที่โจทก์จะสามารถใช้ออกสู่ทางสาธารณะใช้อีกทางหนึ่ง คือ คันคลองส่งน้ำด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ ซึ่งจำเลยอ้างว่าโจทก์น่าจะใช้ทางนี้ออกสู่ทางสาธารณะ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาก็ปรากฏว่า ทางดังกล่าวต้องผ่านที่ดินของผู้อื่นจำนวนหลายแปลงด้วยกัน และมีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเส้นทางเดินเป็นทางคันคลองส่งน้ำและคันบ่อกุ้งจึงไม่สะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ทั้งสามไม่เคยใช้เป็นเส้นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะเป็นปกติมาก่อน ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางตรงมีระยะทางเพียง 18 เมตร ทางพิพาทย่อมสะดวกและมีความเหมาะสมมากกว่า ทั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุด เพราะทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเท่านั้น ประกอบกับโจทก์ทั้งสามไม่เคยใช้ทางเดินคันคลองส่งน้ำด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ที่ 1 เป็นปกติมาก่อนเลย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่าทางพิพาทอยู่ใกล้ถนนคันคลองชลประทานเจ้าเจ็ด-บางยี่หน สาย 1 และสะดวกกว่าทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ที่ 1 ดังนี้ จำเลยจะเกี่ยงให้โจทก์ไปใช้เส้นทางอื่นในที่ดินคนอื่นที่โจทก์ไม่ได้ใช้เป็นปกติมาก่อนเป็นทางเข้าออกไม่ได้ ฉะนั้น ทางที่โจทก์ขอผ่านตามแนวทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองจึงเป็นทางที่สะดวกและเหมาะสมกับทางจำเป็นกว่าทางอื่น โจทก์จึงชอบที่จะขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางผ่านตามแนวทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นสำหรับให้โจทก์ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ที่โจทก์ขอทางจำเป็นกว้าง 4 เมตร นั้น เห็นว่า กว้างเกินความจำเป็นสำหรับโจทก์ แต่เมื่อคำนึงถึงอนาคต โจทก์อาจใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเข้าออกทางพิพาทด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้ทางพิพาทมีขนาดความกว้าง 2.50 เมตร
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ทั้งสามวางท่อระบายน้ำและตั้งเครื่องสูบน้ำจากบ่อพักน้ำในที่ดินกรมชลประทานผ่านที่ดินของจำเลยเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้วินิจฉัยมา แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียด้วย สำหรับปัญหานี้ ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่าทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ที่ 1 มีคลองส่งน้ำและทางด้านทิศเหนือก็มีลำเหมืองสาธารณะอยู่ สำหรับคลองส่งน้ำนั้นมีน้ำบริบูรณ์ ส่วนลำเหมืองสาธารณะนั้น แม้จะมีสภาพตื้นเขินอยู่บ้างแต่ก็มีน้ำมากพอสมควร ประกอบกับจะมีน้ำที่ปล่อยจากบ่อเลี้ยงกุ้งของผู้อื่นหลายรายลงมาในลำเหมืองอยู่เสมอ ๆโจทก์จึงสามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้งสองแห่งนี้ได้อย่างเพียงพอแล้วไม่บังควรที่จะให้จำเลยทั้งสองจำต้องยอมรับภารจำยอมในอันที่จะให้โจทก์ทั้งสามวางท่อระบายน้ำและตั้งเครื่องสูบน้ำบนที่ดินของจำเลยทั้งสองอีก
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1เป็นประการสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายซึ่งโจทก์ที่ 1เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้จำนวน 15,000 บาท นั้นต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1กล่าวอ้างว่า การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องดูว่าคดีนั้นต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ไม่ให้ดูเฉพาะประเด็นที่อุทธรณ์เท่านั้น เห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมานั้นเป็นค่าเสียหายในมูลละเมิด มิใช่เป็นคำขอต่อเนื่องในเรื่องเดียวกันกับเรื่องทางจำเป็น จึงเป็นคนละมูลกรณีกันย่อมต้องแยกพิจารณา เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทางพิพาทซึ่งกว้าง 2.50 เมตรยาวประมาณ 18 เมตร จากด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 8605ของจำเลยที่ 1 จนถึงตอนต้นคลองชลประทานเจ้าเจ็ด-บางยี่หน สาย 1เป็นทางจำเป็น สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 8604, 18902 และ 18901ของโจทก์ทั้งสาม ตามลำดับ กับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วลวดหนามและต้นมะม่วงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกเสีย คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก