โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตโดยปลูกกัญชาจำนวน ๗๐๐ ต้น น้ำหนัก ๑๓๓ กิโลกรัม และมีกัญชาจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๒๖, ๗๕, ๗๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยผลิตโดยปลูกกัญชาและมีกัญชาดังกล่าวในครอบครองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันวางโทษจำคุก ๖ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๔ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะการปรับบทลงโทษโดยระบุวรรคตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ชัดเจนขึ้นเป็นมาตรา ๗๕ วรรคแรก, ๗๖ วรรคสอง และให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๕ วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า พยานโจทก์สามปากเป็นพยานที่ได้รับคำบอกเล่าซัดทอดมาจากผู้กระทำผิดตามฟ้องกับจำเลยว่า ถูกจำเลยใช้ให้ปลูกกัญชาตามฟ้อง จึงรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เพราะเป็นพยานบอกเล่าประเภทต้องห้ามมิให้รับฟัง แต่ศาลล่างทั้งสองกลับรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยจึงขัดต่อกฎหมาย เห็นว่า ศาลรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามให้ศาลรับฟัง หากเพียงแต่มีน้ำหนักน้อย ต้องมีพยานหลักฐานอื่นประกอบจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยได้ เมื่อคดีนี้พยานโจทก์มิได้มีเฉพาะคำเบิกความของพยานทั้งสามปากดังกล่าวเท่านั้นแต่ยังมีพยานอื่นอีก ดังนี้จึงไม่ทำให้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองที่ฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะการที่จะรับฟังพยานหลักฐานใดเป็นการเพียงพอดังลงโทษได้หรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกามาอีกข้อหนึ่งว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการจ้าง วาน ใช้ ไม่ใช่จำเลยร่วมเป็นตัวการด้วย แต่ศาลล่างทั้งสองกลับฟังว่าจำเลยเป็นตัวการ ดังนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๔ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๔ ปีเช่นเดียวกัน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก ฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็เพื่อให้ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง จึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน