โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนโดยใส่ชื่อโจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1124, 15560 และ 15561 เป็นเนื้อที่ 286.31 ตารางวา 316.80 ตารางวา และ 217.39 ตารางวา ตามลำดับ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันนำที่ดินทั้งสามแปลงออกขายแก่บุคคลภายนอกหรือขายทอดตลาดนำเงินที่ได้ในแต่ละแปลงมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นเนื้อที่ดินจำนวน 820.5 ตารางวา โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งโอนที่ดินเฉพาะส่วนและจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1124 เป็นเนื้อที่ 286.31 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 15560 เป็นเนื้อที่ 316.80 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 15561 เป็นเนื้อที่ดิน 217.39 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมตามอัตราส่วนของที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันนำที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าวออกขายแก่บุคคลภายนอกหรือขายทอดตลาดนำเงินที่ได้รับในแต่ละแปลงของที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าวมาชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 47,396,702.50 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมนาง ย. ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความฟ้องขับไล่นาย ท. ออกจากบ้านเลขที่ 21/1 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1124 นาย ท. ต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2531 นาง ย. ถึงแก่ความตาย และในระหว่างที่โจทก์ได้รับว่าจ้างจากนางเพี้ยน นางเนียน นางแนบ และนางเปลื้อง ทายาทโดยธรรมบางส่วนของนาง ย. ให้ร้องต่อศาลตั้งนายชิตเป็นผู้จัดการมรดก โดยมีนาง ล. ทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของนาง ย. และเป็นภริยานาย ท. กับนาย ท. ยื่นคำคัดค้าน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2532 นางเพี้ยน นางเนียน นางแนบ นางเปลื้อง และนายชิต ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์โดยยอมรับข้อตกลงว่านาง ย. ตกลงจ่ายค่าจ้างว่าความในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นให้โจทก์เป็นอัตราร้อยละ 7 จากจำนวนทุนทรัพย์ที่ดินพิพาท 3,150 ตารางวา และว่าจ้างโจทก์ดำเนินคดีในคดีหมายเลขดำที่ 15643/2531 ของศาลชั้นต้น ต่อไป ในอัตราค่าจ้างเดิมไม่ว่าผลของคดีจะเป็นประการใด ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2532 นางเพี้ยน นางเนียน นางแนบ นางเปลื้อง และนายชิต ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีหมายเลขดำที่ 14244/2531 หมายเลขแดงที่ 16299/2531 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นคดีที่นาย ท. ฟ้องนาง ย. ขณะมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1124 นั้น ตกลงค่าจ้างเป็นเนื้อที่ดิน 600 ตารางวา ของที่ดินดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงผลแห่งคดี ปี 2533 ศาลฎีกาพิพากษาให้นายชิตกับนาง ล. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนาง ย. ซึ่งต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 1124 ถูกเวนคืนบางส่วน ระหว่างดำเนินการรังวัดแบ่งแยก นาง ล. ถึงแก่ความตาย นายชิตไม่สามารถจัดการมรดกได้เพียงลำพัง โจทก์เป็นทนายความร้องขอถอนนายชิตพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้นายชิตเป็นผู้จัดการมรดกของนาง ย. แต่ผู้เดียว ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2544 ส่วนคดีที่พิพาทกันนั้น คดีหมายเลขดำที่ 15643/2531 หมายเลขแดงที่ 21968/2535 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 นายเสนาะ ผู้จัดการมรดกของนาง ย. ในคดีนี้ถอนฟ้องเพราะคดีตกลงกันได้ ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 14244/2531 หมายเลขแดงที่ 16299/2531 ของศาลชั้นต้น มีการขอพิจารณาคดีใหม่ และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ (นาย ท. ) ในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556 นายชิตถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนาง ย. โจทก์ว่าความดำเนินคดีในคดีหมายเลขดำที่ 69/2532 หมายเลขแดงที่ 3414/2533 คดีหมายเลขดำที่ 15643/2531 หมายเลขแดงที่ 21968/2535 และคดีหมายเลขดำที่ 14244/2531 หมายเลขแดงที่ 16299/2531 ของศาลชั้นต้น รวม 3 คดี ได้ค่าจ้างจากทายาทหรือกองมรดกของนาง ย. เป็นเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเงินค่าจ้างในคดีขอจัดการมรดกคดีหมายเลขดำที่ 69/2532 ของศาลชั้นต้น เท่านั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาจ้างว่าความเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า การที่สัญญาว่าจ้างทนายความในคดีที่ฟ้องขับไล่นาย ท. ออกจากที่ดิน ตกลงจ่ายค่าจ้างว่าความในการดำเนินคดีจำนวนร้อยละ 7 ของเนื้อที่ดิน 3,150 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนของเนื้อที่ดินของโฉนดที่ดินเลขที่ 1124 ที่นาย ท. กับพวกคู่กรณีให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาทของนาง ย. ซึ่งเป็นลูกความ และถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน หากผลคดีฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างทนายความเป็นที่ดิน จึงเป็นการว่าจ้างทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีโดยปริยาย มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และในส่วนสัญญาจ้างว่าความในคดีที่นาย ท. ฟ้องขอเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน การที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าจ้างเป็นเนื้อที่ดิน 600 ตารางวา จากที่ดินโฉนดเลขที่ 1124 โดยยินยอมให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้นาย ท. คู่กรณีเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทแล้วเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาท ส่วนข้อตกลงที่ให้โจทก์เลือกเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ด้วยนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน เนื่องจากโจทก์อาจถือเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ซึ่งราคาประเมินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่ และข้อตกลงที่ว่าไม่คำนึงถึงผลคดีนั้น เห็นว่า หากโจทก์ว่าความแพ้คดีก็ไม่สามารถเข้าเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทได้เพราะนาย ท. คู่กรณียังเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท หากนาย ท. ไม่ยินยอมก็ไม่สามารถทำได้ โจทก์จะต้องชนะคดีเท่านั้น ดังนี้ จึงเป็นการว่าจ้างที่ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาทในผลแห่งคดีโดยปริยายเช่นกัน อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความ จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ