คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 14 เรียกจำเลยที่ 1 ทุกสำนวนว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 822/2561 ที่ 824/2561 ที่ 901/2561 ที่ 902/2561 และที่ 4511/2561 ว่า จำเลยที่ 2 และเรียกจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 821/2561 ที่ 823/2561 ที่ 825/2561 ที่ 826/2561 ที่ 903/2561 ที่ 904/2561 และที่ 4512-4514/2561 ว่า จำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินบำนาญ เงินส่วนต่างของเงินบำนาญค้างจ่าย ค่าชดเชย เงินเพิ่ม และดอกเบี้ย พร้อมเพิ่มเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่อัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญที่ได้รับในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเกษียณอายุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 ดังนี้ โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 382,950 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 167,134.07 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 169,990 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 252,679.66 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 236,500 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 138,692.67 บาทโจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 235,190 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 137,924.44 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 282,700 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 208,539.66 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 331,480 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 393,689.26 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเกษียณอายุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ดังนี้ โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 187,890 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 279,286.90 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 253,400 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 301,476.58 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 226,660 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 303,848.60 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 198,070 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 235,893.23 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 11 และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันจ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 12 ถึงที่ 14 นับแต่วันที่โจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 แต่ละคนเกษียณอายุเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 จะถึงแก่ความตาย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน เมื่อครบกำหนดการจ่ายในแต่ละคราว โดยกำหนดเป็นเงินบำนาญงวดแรกของโจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 ในเดือนพฤษภาคม 2561 ดังนี้ โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 21,361.73 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 26,277.24 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 13,189.91 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 12,350 บาท แต่ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในเงินบำนาญเป็นการส่วนตัว และให้จำเลยทั้งสามพิจารณาขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่ทุกปีการศึกษาใหม่ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ ของเงินบำนาญที่โจทก์แต่ละคนได้รับในเดือนพฤษภาคม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสิบสี่ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขึ้นเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 แต่ละคนได้รับในเดือนพฤษภาคม ตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 เกษียณอายุเป็นต้นไป แล้วให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ร่วมกันชำระเงินส่วนต่างของเงินบำนาญแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 เสียใหม่ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินส่วนต่างนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 เกษียณอายุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดจากเงินบำนาญงวดแรกของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ดังนี้ โจทก์ที่ 1 จำนวน 28,338.30 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 9,394.50 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 4,015.82 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 18,751.60 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 6,020 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 5,986.65 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 15,866.20 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 7,563 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 14,135 บาท และโจทก์ที่ 10 จำนวน 22,541 บาท โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชยและเงินบำนาญเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับใบอนุญาต โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 14 เป็นลูกจ้างในตำแหน่งครู ทำงานให้แก่จำเลยที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 11 เป็นลูกจ้างในตำแหน่งครู ทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มีระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2534 และว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 จำเลยที่ 2 มีคู่มือครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 3 มีคู่มือครู โดยระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวใช้บังคับแก่โรงเรียนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ระหว่างวันที่ 15 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 โจทก์ทั้งสิบสี่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และเกษียณอายุการทำงาน โดยมีข้อมูลการเกษียณอายุ อายุงาน และเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จ่ายเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 เหตุผลที่แท้จริงที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 เขียนใบลาออกเนื่องจากเป็นการเกษียณอายุ ไม่ใช่ต้องการไปปฏิบัติหน้าที่อื่น จึงไม่ใช่การลาออกโดยสมัครใจ ส่วนโจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 ไม่ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออก ไม่ถือเป็นการลาออกโดยสมัครใจ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ด้วยเหตุเกษียณอายุ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนนิติบุคคล ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวและระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 กำหนดหน้าที่ผู้รับใบอนุญาตเช่นเดียวกับนายจ้าง เช่น มีอำนาจกระทำการแทนโรงเรียนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้อำนาจในการบริหาร จ่ายค่าตอบแทน ค่าชดเชย และมีอำนาจบอกเลิกสัญญาการเป็นครู ดังนั้น จำเลยที่ 1 ถือเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสี่ เมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่เป็นครูของโรงเรียนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2534 และว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสิบสี่ โดยระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 กำหนดให้การปรับขึ้นเงินบำนาญเป็นดุลพินิจของจำเลยทั้งสามที่จะพิจารณาปรับเงินบำนาญให้แก่ครูที่รับบำนาญโดยคำนึงถึงผลประกอบการ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ใช้หลักเกณฑ์การประเมินการปรับขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 โดยกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ได้ปรับขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 แล้ว จึงไม่มีส่วนต่างของเงินบำนาญที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 จะรับได้อีก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ด้วยเหตุเกษียณอายุ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ไม่ได้จงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 มีหลักการและวัตถุประสงค์การจ่ายค่าชดเชยกับเงินบำนาญแตกต่างกัน การจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ดังกล่าวไม่ให้ได้รับเงินบำนาญ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นครูโรงเรียนเอกชนลูกจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับใบอนุญาต และฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะโรงเรียนเอกชนนายจ้างที่มีคำสั่งเลิกจ้างขอให้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำนาญอันเป็นสิทธิประโยชน์อื่น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 โจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตามระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดชัดเจนให้ขึ้นเงินบำนาญร้อยละ 10 ของเงินบำนาญทุกปี โดยไม่ปรากฏข้อยกเว้นไว้ให้เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 จึงต้องจ่ายส่วนต่างของเงินบำนาญที่ปรับขึ้นไม่ถึงร้อยละ 10 ของเงินบำนาญ ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 และเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 จึงกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ทุกปีการศึกษาใหม่ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ได้รับในเดือนพฤษภาคม แม้โจทก์ดังกล่าวจะมิได้มีคำขอ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 จงใจไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องปรับขึ้นเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยไว้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 ไม่ได้กำหนดให้ปรับขึ้นเงินบำนาญให้แก่ครูทุกคนทันทีในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญเท่ากันทุกปี แต่เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ที่จะพิจารณาปรับขึ้นเงินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยให้ปรับขึ้นเงินบำนาญในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญทุกปีการศึกษา จึงไม่ชอบ เห็นว่า ในส่วนของการปรับขึ้นเงินบำนาญนั้นปรากฏตามระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 ข้อ 15 ที่ระบุไว้ว่า "ครูที่ได้รับบำนาญจะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินบำนาญที่ได้รับในเดือนพฤษภาคม" จะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า การจะได้รับการปรับขึ้นเงินบำนาญในทุกปีการศึกษาใหม่จะต้องได้รับการพิจารณาเสียก่อน ซึ่งคำว่า "พิจารณา" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายความว่า ตรวจตรา ตริตรอง สอบสวน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจตรา หรือตริตรอง หรือสอบสวน ก็ย่อมต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิจารณาเป็นสำคัญว่าสมควรปรับเพิ่มเงินบำนาญแก่ครูผู้มีสิทธิรับบำนาญหรือไม่ แม้ในระเบียบดังกล่าวไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าให้เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ก็ตาม ระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว หาใช่บทกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ต้องปรับขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ขึ้นเงินบำนาญในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญทุกปี การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ไม่เท่ากันทุกคนและไม่ถึงอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญในปีการศึกษาที่ผ่านมาทุกปี เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว แล้วให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 จ่ายเงินส่วนต่างที่ขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ไม่ถึงอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญ พร้อมดอกเบี้ยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ และต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสิบสี่หรือไม่ เพียงใด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่หรือไม่ ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสิบสี่อย่างไร ประกอบกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้โดยเห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าโจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของผู้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะต่างหาก จึงต้องนำหลักความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่ผู้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้กิจการของโรงเรียนในระบบเฉพาะในส่วนของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และมาตรา 166 บัญญัติให้ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นํากฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ โดยในเรื่องค่าชดเชยของครูโรงเรียนเอกชนจึงต้องบังคับตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ซึ่งข้อ 32 และข้อ 33 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ครู จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตโดยไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชยเป็นการส่วนตัวแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายจ้างก็เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ดังกล่าวย่อมไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมีผลเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสี่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาและข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 24 เมื่อพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบมีฐานะเป็นผู้แทนของโรงเรียน และการดำเนินกิจการของโรงเรียน ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารเพื่อบริหารกิจการโรงเรียนโดยที่ไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของผู้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะต่างหาก จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 คดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นครูโรงเรียนเอกชนและเป็นลูกจ้าง ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตและฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะโรงเรียนเอกชนและเป็นนายจ้าง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในขอบอำนาจ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชยและเงินบำนาญเป็นการส่วนตัว และร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือที่ 3 พิจารณาปรับขึ้นเงินบำนาญ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขในส่วนนี้เสีย ปัญหาข้อดังกล่าวนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง
อนึ่ง สำหรับที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 11 และจำเลยที่ 3 จ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 12 ถึงที่ 14 นับแต่วันที่โจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 แต่ละคนเกษียณอายุเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 จะถึงแก่ความตาย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน เมื่อครบกำหนดการจ่ายในแต่ละคราว โดยกำหนดเป็นเงินบำนาญงวดแรกของโจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 ในเดือนพฤษภาคม 2561 ดังนี้ โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 21,361.73 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 26,277.24 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 13,189.91 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 12,350 บาท นั้น เห็นว่า คดีนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาและข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า โจทก์ที่ 11 ที่ 12 และที่ 14 มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตามระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 โจทก์ที่ 11 และที่ 12 มีคุณสมบัติตามวิธีคำนวณในข้อ 26 ที่กำหนดว่า "ครูที่ปฏิบัติงานมาครบ 25 ปีขึ้นไปและอายุครบเกษียณอายุ 60 ปี ให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีเวลาปฏิบัติงาน หารด้วย 50" และโจทก์ที่ 14 มีคุณสมบัติตามวิธีคำนวณบำนาญในข้อ 27 ที่กำหนดว่า "สำหรับครูที่ปฏิบัติงานมาไม่เกิน 25 ปี และอายุครบเกษียณอายุ 60 ปี ให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีเวลาปฏิบัติงาน หารด้วย 55" และนับอายุงานตามข้อ 23 ที่กำหนดว่า "เวลาปฏิบัติงานสำหรับคำนวณบำนาญ ให้นับจำนวนปีเต็มเท่านั้น" โจทก์ที่ 11 มีจำนวนปีเวลาปฏิบัติงาน 29 ปี โจทก์ที่ 12 มีจำนวนปีเวลาปฏิบัติงาน 30 ปี และโจทก์ที่ 14 มีจำนวนปีเวลาปฏิบัติงาน 21 ปี โดยโจทก์ที่ 11 ได้เงินเดือนเดือนสุดท้าย 35,602.88 บาท โจทก์ที่ 12 ได้เงินเดือนเดือนสุดท้าย 42,302 บาท และโจทก์ที่ 14 ได้เงินเดือนเดือนสุดท้าย 30,875 บาท ดังนี้เมื่อคำนวณเงินบำนาญแล้ว โจทก์ที่ 11 จะได้รับเงินบำนาญเดือนละหรืองวดละ 20,649.67 บาท โจทก์ที่ 12 จะได้รับเงินบำนาญงวดละหรือเดือนละ 25,381.20 บาท และโจทก์ที่ 14 จะได้รับเงินบำนาญงวดละหรือเดือนละ 11,788.64 บาท การที่ศาลแรงงานกลาง กำหนดเงินบำนาญงวดแรกที่โจทก์ที่ 11 ที่ 12 และที่ 14 มีสิทธิได้รับตามระเบียบให้แก่โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 21,361.73 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 26,277.24 บาท และโจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 12,350 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนตามสิทธิ แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 11 กับให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 12 และที่ 14 จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยดังกล่าวรับผิดเกินกว่าสิทธิของโจทก์ที่ 11 ที่ 12 และที่ 14 ตามความเป็นจริง และสำหรับเงินบำนาญซึ่งเป็นหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 11 กับที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 12 ถึงที่ 14 ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม) นั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี จึงเห็นสมควรกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าว ปัญหาข้างต้นดังกล่าวนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง จึงให้จำเลยที่ 2 จ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 11 โดยกำหนดเป็นเงินบำนาญงวดแรกของโจทก์ที่ 11 ในเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 20,649.67 บาท และให้จำเลยที่ 3 จ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 12 และที่ 14 โดยกำหนดเป็นเงินบำนาญงวดแรกของโจทก์ที่ 12 ในเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 25,381.20 บาท และของโจทก์ที่ 14 ในเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 11,788.64 บาท และให้คิดดอกเบี้ยของเงินบำนาญที่โจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 มีสิทธิได้รับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีแต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าชำระหนี้เสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 11 โดยกำหนดเป็นเงินบำนาญงวดแรกของโจทก์ที่ 11 ในเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 20,649.67 บาท ให้จำเลยที่ 3 จ่ายบำนาญให้แก่โจทก์ที่ 12 และที่ 14 โดยกำหนดเป็นเงินบำนาญงวดแรกของโจทก์ที่ 12 ในเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 25,381.20 บาท และของโจทก์ที่ 14 ในเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 11,788.64 บาท ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยของต้นเงินบำนาญแต่ละจำนวนเมื่อครบกำหนดการจ่ายในแต่ละคราวตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแก่โจทก์ที่ 11 และให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระดอกเบี้ยของต้นเงินบำนาญแต่ละจำนวนเมื่อครบกำหนดการจ่ายในแต่ละคราวตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแก่โจทก์ที่ 12 ถึงที่ 14 ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ที่ 11 ถึงที่ 14 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างของเงินบำนาญพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างของเงินบำนาญพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ไม่ต้องขึ้นเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญที่โจทก์ทั้งสิบสี่ได้รับในเดือนพฤษภาคม แต่ต้องพิจารณาปรับขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่ทุกปีตามระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 ข้อ 15 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ