โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 33, 83, 91 ริบของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่บุกรุก และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษเข้ากับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก เป็นลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่บุกรุกส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ด้วย กับให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ส่วนจอบของกลาง 5 เล่ม ให้คืนแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่าก่อนคดีนี้จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2543/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ในข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่บุกรุก ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ เอกสารหมาย ล.4 ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในข้อหาเดียวกัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการกระทำความผิดในคดีก่อนหรือไม่ โจทก์มีนายสมคิด จันทรัตน์ นายจักริน นาสารีย์ นายสมพร คำนึก และนายอำนาจ มุขขระโกษา เจ้าพนักงานป่าไม้ เป็นพยานเบิกความว่าระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 จำเลยกับพวกบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร โดยจำเลยกับพวกบุกรุกแผ้วถางเป็นจำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ ที่ดินบางส่วนทำร่องไว้สำหรับปลูกมันเทศและมันสำปะหลัง ซึ่งที่ดินที่บุกรุกเป็นแปลงเดียวกันกับที่ดินที่โจทก์ฟ้องจำเลยบุกรุกเมื่อปี 2542 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2757/2542 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ โดยจำเลยและบริวารต้องออกไปจากที่ดินดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาล แต่จำเลยไม่ยอมออกจึงถูกจับกุมเป็นคดีนี้ซึ่งจำเลยเบิกความยอมรับว่า นับตั้งแต่ศาลพิพากษาในคดีก่อนเป็นต้นมา จำเลยยังคงทำกินในที่ดินแปลงเดิมตลอดมา โดยเจ้าพนักงานป่าไม้ไม่เคยบังคับหรือกระทำการใด เพื่อให้จำเลยออกจากที่ดินดังกล่าว เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สมาชิกสมัชชาเกษตรกรรายย่อยซึ่งจำเลยเป็นสมาชิกอยู่ด้วยทำกินในที่ดินที่เคยทำอยู่ไปก่อน ทั้งนี้นายรณชิต ทุ่มโมง เลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสานได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าทางราชการผ่อนปรนให้จำเลยสามารถทำกินในที่ดินดังกล่าวได้ เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยรับกันแล้วว่า จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุตลอดมา หาได้ออกไปแล้วกลับเข้ายึดถือครอบครองใหม่ไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยแผ้วถางต้นไม้แล้วปลูกมันสำปะหลังเมื่อระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 10 พฤาภาคม 2543 ก็เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีก่อน คือการยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุที่ศาลได้พิพากษลงโทษจำเลยไปแล้วการแผ้วถางต้นไม่และขุดดินปลูกมันสำปะหลังเป็นการแสดงออกว่าจำเลยยังคงเป็นผู้ยึดถือครอบครองอยู่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำแผนและทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติขึ้นใหม่ การที่โจทก์มิได้บังคับคดีให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่เกิดเหตุในคดีก่อน แต่กลับฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันนี้อีก ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำต่อเนื่องจากคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ คืนจอบของกลางแก่เจ้าของมานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน