ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร อันเป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติให้ใช้เพื่อแก้ปัญหา อีกทั้งคำสั่งศาลย่อมเป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกฝ่ายที่จะปฏิบัติตาม อันทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบอาจกลับคืนสู่สภาพปกติได้มากกว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในขณะนี้ที่มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ จึงขอให้บังคับ
1. ให้กลุ่มบุคคลทั้งห้า ออกไปจากสถานที่ตามข้อกำหนด และนำมวลชนกลุ่ม นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมด พร้อมด้วยทรัพย์สินและยานพาหนะทุกชนิดที่เป็นคนกลุ่มบุคคลทั้งห้า และหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมและเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งหมดออกไปจากสถานที่ตามข้อกำหนด (บริเวณถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกประตูน้ำ ถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ ถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกปทุมวัน และถนนเพลินจิตตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกชิดลม) โดยให้มีผลบังคับในทันทีที่ศาลมีคำสั่ง
2. ให้ศาลมีคำสั่งห้ามกลุ่มบุคคลทั้งห้าและกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าไปในบริเวณถนนพระรามที่ 4ตั้งแต่แยกตัดกับถนนสาทรหรือแยกสามย่าน ถนนสาทรตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสีลมตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสุรวงศ์ตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนเจริญกรุงตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุรวงศ์ถึงแยกตัดกับถนนสาทร ถนนราชดำริตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าราชดำริถึงแยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถนนพญาไทตั้งแต่แยกสามย่านถึงแยกราชเทวี ถนนรัชดาภิเษกตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุขุมวิทถึงแยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถนนดินแดงตั้งแต่แยกตัดกับถนนรัชดาภิเษกถึงแยกตัดกับถนนทวีมิตร ถนนทวีมิตรและถนนรัชดาภิเษกตั้งแต่แยกตัดกับถนนดินแดงถึงแยกตัดกับถนนรัชดาภิเษก ซอย 8 หากกลุ่มบุคคลทั้งห้าและกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าไปในบริเวณพื้นที่ตามข้อกำหนดดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยให้มีผลบังคับในทันทีที่ศาลมีคำสั่ง
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า มีเหตุที่จะแก้คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องเป็นไม่รับคำร้องของผู้ร้องได้หรือไม่ เห็นว่า ตามความในมาตรา 23 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บัญญัติว่า "การดำเนินคดีใด ๆ อันเนื่องมาจากข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ในกรณีที่ศาลจะต้องพิจารณาเพื่อใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี ให้ศาลเรียกเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งออกข้อกำหนด ประกาศหรือคำสั่ง หรือกระทำการนั้น มาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รายงานหรือแสดงเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวดังกล่าวด้วย" จึงเห็นได้ว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคำร้องของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับคดีการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ โดยให้เรียกเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งออกข้อกำหนดมาชี้แจงข้อเท็จจริง รายงานหรือแสดงเหตุผลประกอบการสั่งได้ โดยไม่จำต้องสั่งรับคำร้องของผู้ร้องก่อนก็ได้ ทั้งยังสามารถที่จะเรียกไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวเพื่อประกอบการพิจารณาได้โดยไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงฝ่ายอื่นก็ได้ เพราะเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แล้ว นอกจากนี้ยังให้อำนาจศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาเพื่อใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ในมาตรา 254 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียว แต่ศาลก็มีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (3) ในคดีนี้ทนายผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นทำการไต่สวน ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานผู้ร้องรวม 3 ปาก ทนายผู้คัดค้านทั้งสองก็ได้ถามค้านพยานผู้ร้องดังกล่าวแล้ว เมื่อทนายผู้ร้องแถลงหมดพยาน ทนายผู้คัดค้านกลับไม่แถลงติดใจสืบพยานชั้นไต่สวนต่อไป แสดงว่าศาลชั้นต้นให้โอกาสนำพยานเข้าสืบแล้ว แต่ทนายผู้คัดค้านทั้งสองไม่ประสงค์จะนำพยานเข้าสืบเอง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องและดำเนินการไต่สวนกรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องโดยก้าวล่วงวินิจฉัยประเด็นหลักอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีไปแล้วจึงมาพิจารณาเรื่องอำนาจของผู้ร้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองกับกลุ่มบุคคล 3 คน และพวกที่เข้าร่วมชุมนุมทั้งหมดออกไปจากสถานที่ตามคำขอในคำร้อง (บริเวณถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกประตูน้ำ ถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ ถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกปทุมวัน และถนนเพลินจิตตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกชิดลม) และขอให้มีคำสั่งห้ามกลุ่มบุคคลทั้งห้าและกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งหมดเข้าไปในบริเวณถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่แยกตัดกับถนนสาทรถึงแยกสามย่าน ถนนสาทรตั้งแต่แยกตัดกับกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสีลมตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสุรวงศ์ตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนเจริญกรุงตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุรวงศ์ถึงแยกตัดกับถนนสาทร ถนนราชดำริตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าราชดำริถึงแยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถนนพญาไทตั้งแต่แยกสามย่านถึงแยกราชเทวี ถนนรัชดาภิเษกตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุขุมวิทถึงแยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถนนดินแดงตั้งแต่แยกตัดกับถนนรัชดาภิเษกถึงแยกตัดกับถนนทวีมิตร ถนนทวีมิตรและถนนรัชดาภิเษกตั้งแต่แยกตัดกับถนนดินแดงถึงแยกตัดกับถนนรัชดาภิเษก ซอย 8 และหากกลุ่มบุคคลและกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าวเข้าไปในบริเวณพื้นที่ตามข้อกำหนดขอให้สั่งออกจากพื้นที่ดังกล่าว การร้องขอดังกล่าวข้างต้นนี้ทาง กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรสามารถที่จะเข้าไปดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บัญญัติให้อำนาจไว้ในมาตรา 15, 16 และ 18 ตามลำดับ และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนด้วยตามมาตรา 24 ดังนั้น การที่ผู้ร้องใช้สิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อบังคับตามคำร้องดังกล่าวข้างต้นโดยอาศัยบทบัญญัติตามมาตรา 23 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นเรียกไต่สวนและเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่อ้างในคำร้องเพียงพอที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งว่ากรณีไม่มีความจำเป็นจะต้องมาใช้สิทธิทางศาล แสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในเนื้อหาหรือประเด็นแห่งคดีตามคำร้อง ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) กรณีดังกล่าวมิใช่เพียงการไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง โดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีด้วยเสมอ การไม่มีคำสั่งในเรื่องนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ