โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 478,470.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 398,475 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 478,470.22 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 398,475 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการซื้อขายทองคำและเป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 จำเลยเปิดบัญชีซื้อขายทองคำแท่งเลขที่บัญชี 0009591 และทำสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง 96.5 % กับโจทก์ หลังทำสัญญาจำเลยสั่งซื้อและขายทองคำแท่งกับโจทก์เรื่อยมา โดยระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยสั่งให้โจทก์ขายทองคำ 36 รายการ รวมน้ำหนักทองคำ 1,705 บาท คิดเป็นเงิน 32,328,100 บาท แต่จำเลยไม่ส่งมอบทองคำภายในกำหนดเวลา 3 วัน ทำการนับแต่วันที่จำเลยสั่งขายโจทก์จึงบังคับหักทอนบัญชีส่งผลให้จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 2,338,800 บาท และเบี้ยปรับ 59,675 บาท รวมเป็นเงิน 2,398,475 บาท แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำหลักประกันของจำเลยหักชำระหนี้คงเหลือหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ 398,475 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยฎีกาสรุปว่าสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง 96.5 % ที่จำเลยทำกับโจทก์เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 455 มีอายุความ 2 ปี ไม่ใช่การซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ปัญหาว่าสัญญาซื้อขายทองคำแท่งระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือไม่ นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมแผนกคดีผู้บริโภคเห็นว่า พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ในพระราชบัญญัตินี้... "สัญญาซื้อขายล่วงหน้า" หมายความว่า สัญญาที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะดังต่อไปนี้ (1) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตเป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (2) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับชำระเงินหรือต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (3) สัญญาที่กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าหรือชำระราคาของสินค้า หรือชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคา หรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาตาม (1) หรือ (2)..." แต่สัญญาซื้อขายทองคำแท่ง 96.5 % ที่จำเลยทำกับโจทก์ไม่มีลักษณะตามที่พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 มาตรา 3 บัญญัติไว้ สัญญาซื้อขายทองคำแท่ง 96.5 % จึงมิใช่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย
ส่วนปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ขายทองคำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำที่ทำการขายทุกรายการภายในกำหนดเวลา 3 วันทำการนับแต่วันที่จำเลยส่งคำสั่งขายแต่ละรายการ โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาดำเนินการล้างฐานะเพื่อบังคับชำระหนี้โดยหักกลบลบหนี้เพื่อทอนบัญชีระหว่างจำนวนเงินค่าทองคำที่จำเลยสั่งขายกับจำนวนเงินค่าทองคำที่ได้จากการบังคับซื้อกลับ ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง 96.5% ข้อ 5.1 ระบุว่า หากปรากฏพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่งให้ภาระหนี้สินทั้งหมดของลูกค้าในบัญชีของลูกค้าถึงกำหนดชำระโดยพลัน และให้บริษัทสามารถดำเนินการการล้างฐานะซื้อขายทองคำได้ทันที...(1) เมื่อลูกค้าผิดนัดไม่ชำระค่าซื้อและ/หรือขายทองคำและ/หรือผิดนัดการวางหลักประกัน และ/หรือผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ ตามสัญญานี้ ภายในระยะเวลาและ/หรือเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญานี้ หรือตามข้อกำหนดของบริษัท และ/หรือไม่ชำระเงินจำนวนใด ๆ ภายใต้สัญญานี้ตามจำนวนที่ต้องชำระเมื่อถึงกำหนดชำระ และข้อ 5.3 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่บริษัทล้างฐานะรายการซื้อขายทองคำของลูกค้าแล้วทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขาย และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ลูกค้ายินดีรับผิดชอบชำระส่วนต่าง และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับบริษัททันทีที่ได้รับการทวงถามจากบริษัท พร้อมด้วยค่าเสียหายและดอกเบี้ยและ/หรือเบี้ยปรับ ในอัตราที่บริษัทกำหนดนับจากวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้บริษัทครบถ้วนการที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 5.1 (1) เพื่อดำเนินการล้างฐานะซื้อขายทองคำอันทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5.3 วรรคสอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเอาค่าเสียหายจากส่วนต่างของราคาทองคำเนื่องจากจำเลยมิได้ส่งมอบทองคำให้แก่โจทก์ภายในกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องในลักษณะนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่าหนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี...และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 398,475 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ