ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ศาลยุติธรรมต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการโอนคดีให้ศาลปกครองตาม พ.ร.บ.ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและเป็นการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (8) เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอีกศาลหนึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 10 บัญญัติให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ศาลรับฟ้องเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็น ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อให้มีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลนั้นหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติถึงกระบวนการชี้ขาดเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล กล่าวคือหากศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัตินี้
เมื่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองซึ่งกรณีนี้คือศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองเชียงใหม่ หากศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองเชียงใหม่หรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองเชียงใหม่ แต่ถ้าศาลปกครองเชียงใหม่มีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ทันทีนั้นไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 10