โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 358
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ส่วนข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายณรงค์ฤทธิ์หรือรงค์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 96,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การคดีส่วนแพ่งทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 358 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 24,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 อีกสถานหนึ่ง เป็นเงิน 10,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 7,500 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดน่าเชื่อว่าเกิดจากความหึงหวงซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของวิญญูชนโดยทั่วไป และแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้บรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีบุตรที่เป็นผู้เยาว์รวม 2 คน ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำผิดหรือต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกคำร้องในคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า วันเกิดเหตุวันที่ 5 มีนาคม 2562 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ขณะที่นายณรงค์ฤทธิ์หรือรงค์ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุซึ่งยืมมาจากนางสาวลักคณา มารดาของเพื่อนรุ่นน้อง มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายแล่นไปตามถนนเลียบชลประทาน ซอยโรงสูบน้ำใกล้ร้านอาหารตั้งหลัก หมู่ที่ 5 ที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล่นตามมาทางด้านหลังมาทัน แล้วพวกของจำเลยที่ 1 กระชากรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ตกลงจากรถจักรยานยนต์และทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มครูดไปกับพื้นถนนได้รับความเสียหาย โดยผู้เสียหายยังยืนคร่อมรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรุมชกต่อย และเตะบริเวณลำตัว และศีรษะของผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ผู้เสียหายหมดสติอยู่ในที่เกิดเหตุ ต่อมามีเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยนำผู้เสียหายไปส่งที่โรงพยาบาลตราด วันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา นายนิรุติ น้องชายของผู้เสียหายไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกนิจสันติ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองตราด วันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกนิจสันติ์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวก ร้อยตำรวจเอกนิจสันติ์สอบปากคำผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายชี้ร่องรอยความเสียหายของรถจักรยานยนต์ ให้ช่างมาตรวจสภาพรถจักรยานยนต์เพื่อประเมินความเสียหายและถ่ายรูปไว้ หลังจากร้อยตำรวจเอกนิจสันติ์ได้สอบปากคำพยาน และรวบรวมพยานหลักฐานแล้วกล่าวหาจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 กับความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและความรับผิดทางแพ่งในความผิดฐานดังกล่าว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 บัญญัติถึงความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์" จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" นั้น ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเป็นของนางสาวลักคณา และผู้เสียหายยืมจากเพื่อนรุ่นน้องมาใช้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวลักคณาซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ได้ ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เมื่อนางสาวลักคณาซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ การที่พนักงานสอบสวนสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และผู้เสียหายไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทนในส่วนความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดซึ่งเป็นหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 และมาตรา 224 นั้น ปรากฏว่าได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยตามพระราชกำหนดดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุก 8 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 18,330 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ