คดีสืบเนื่องมาจาก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางมะลิ ผู้ตาย อ้างเหตุว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยชอบธรรมของนายอุทัย สามีผู้ตาย กับนางสาวอมริศา และนายอธิชา บุตรของผู้ตายที่ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย จึงมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่บุคคลดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 6 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยกคำร้องคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้าน ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ถอนนายณรงค์ ผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางมะลิ ผู้ตาย และตั้งให้นางลมุล ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางมะลิ ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายอุทัย สามีของนางมะลิ ผู้ตาย ผู้คัดค้าน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางทองม้วน มารดาผู้ตาย นายอุทัยและผู้ตายเป็นสามีภริยากัน มีบุตร 2 คน คือ นายอธิชาและนางสาวอมริศา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 นายอุทัยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย นายอธิชา นางทองม้วน นายวีระและนางสาวปัทมา ถึงแก่ความตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่า ผู้ตายถูกนายอุทัยใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายก่อนนางทองม้วน นายวีระ นางสาวปัทมา นางสาวอมริศาและนายอธิชา คงมีแต่คำเบิกความของผู้ร้องอ้างว่า หลังจากนายอุทัยใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นแล้วจึงโทรศัพท์มาหาผู้ร้องว่า ได้ฆ่าญาติพี่น้องไปหมดแล้ว โดยบอกว่าได้ฆ่านางทองม้วนก่อน ถัดมาคือนางปัทมา นายวีระ ผู้ตาย นางสาวอมริศา และนายอธิศา ตามลำดับ นั้น หลังเกิดเหตุผู้ร้องก็ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้แก่ทายาทหรือเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งมิได้นำสืบผู้ตรวจชันสูตรศพผู้ตายและบุคคลในครอบครัวถึงเวลาที่ตาย ประกอบกับผู้ร้องไม่มีหลักฐานว่า นายอุทัยได้โทรศัพท์มาบอกเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ร้อง คำเบิกความของผู้ร้องจึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อ เมื่อผู้ตายตลอดจนบุคคลในครอบครัวถูกนายอุทัยใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในเวลาต่อเนื่องนั้น จึงถือได้ว่า เป็นการตายในเหตุภยันตรายร่วมกันและเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง จึงต้องถือว่า ทุกคนถึงแก่ความตายพร้อมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 17 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงไม่ตกไปยังนางสาวอมริศาและนายอธิชาซึ่งเป็นบุตรผู้ตาย แต่จะตกได้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นน้าของผู้ตาย ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งแล้วว่านายอุทัยสามีผู้ตายเป็นผู้กระทำโดยเจตนาให้ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจดำเนินคดีแก่นายอุทัยได้เนื่องจากนายอุทัยได้ฆ่าตัวตายไปเสียก่อน ก็ถือได้ว่า นายอุทัยเป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายฐานเป็นผู้ไม่สมควร ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ทรัพย์ซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายจะต้องแบ่งแก่นายอุทัยครึ่งหนึ่งในฐานะสินสมรสก่อน และส่วนของนายอุทัยจะตกเป็นมรดกของนายอุทัยต่อไป ผู้ร้องก็มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ จึงเห็นสมควรถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่ปรากฏข้อเสื่อมเสียและมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ