ืโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันต้นไม้ ทำลายป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และทำให้เกิดความเสียหายแก่ไม้สัก ร่วมกันทำไม้สัก กับไม้ชนิดอื่นอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และร่วมกันมีไม้ดังกล่าวอันมิได้แปรรูปจำนวน ๑๓ ท่อนไว้ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ ที่แก้ไขใหม่พระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๕๔, ๕๕, ๖๙, ๗๒ ตรี, ๗๓ ที่แก้ไขใหม่ข้อหายึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจำคุก ๖ เดือนปรับ ๕,๐๐๐ บาทข้อหามีไม้หวงห้ามอันมิได้แปรรูปในครอบครองจำคุก ๑ ปีปรับ ๕,๐๐๐ บาทข้อหาทำไม้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ จำคุก ๑ ปีปรับ ๕,๐๐๐ บาทรวมจำคุก ๒ ปี ๖ เดือนปรับ ๑๕,๐๐๐ บาทจำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ๓ เดือนปรับ ๗,๕๐๐ บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในข้อหาทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยในข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ วรรคสองจำคุก ๒ ปีจำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปีรวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วเป็นจำคุก ๑ ปี ๙ เดือนไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ตัดฟัน โค่นไม้สักตามฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๗๖ นั้นปรากฏว่าข้อหาดังกล่าวกฎหมายกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกไม่ถึง ๕ ปีเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งได้ความว่าจำเลยมีอาชีพค้าขายวิทยุ นาฬิกา แว่นตา ปากกาและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จังหวัดนครสวรรค์แต่ไปยึดถือครอบครองทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีไม้สักไม้มีค่าชนิดอื่น ของป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ จำนวนมาก พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่สมควรรอการลงโทษ
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ วรรคสองที่แก้ไขแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำผิดของจำเลยในข้อหาดังกล่าวเป็นความผิดทั้งตามพระราชบัญญติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๗๓ วรรคสองที่แก้ไขแล้วและพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ วรรคสองที่แก้ไขแล้วอันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสองที่แก้ไขแล้วและปัญหาปรับบทดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าเฉพาะข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๗๓ วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.