โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน
451,972,265.83 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน
221,873,561.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า
ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องเคลือบคลุมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า
แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็มิได้หยิบยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเพื่อตัดฟ้องโจทก์
กรณีจึงมีผลเท่ากับว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมอันเป็นการสมประโยชน์แก่โจทก์ที่นำคดีมาฟ้องอยู่แล้ว
ทั้งในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็มิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบอย่างไร
ประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่
จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
225 วรรคหนึ่ง,
252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
มาตรา 51 ปัญหานี้แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคก็ไม่อาจวินิจฉัยได้
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า
ที่ศาลชั้นต้นกำหนดภาระพิสูจน์และหน้าที่นำสืบตกแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากและฝากเงินไว้กับธนาคารศรีนคร จำกัด
(มหาชน) รวม 10 บัญชี ต่อมา ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
กระทำการทุจริตถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวทั้งสิบบัญชีโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย
จำเลยต่อสู้คดีว่า ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
ไม่ได้ถอนเงินจากบัญชีทั้งสิบของโจทก์โดยทุจริต แต่โจทก์เบิกถอนเงินเองโดยการโอนเงินไปยังบัญชีอื่น
เพื่อหักชำระหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารดังกล่าวและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์เพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชี
โจทก์มอบสมุดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์มีภาระหนี้กับธนาคารดังกล่าวโดยยินยอมให้นำเงินในบัญชีมาหักชำระหนี้ได้
โจทก์อ้างว่าฝากเงินต่อเนื่องเป็นเวลา
8 ปี ไม่เคยถอนเงิน แต่มีรายการถอนเงินอย่างต่อเนื่อง
โจทก์ไม่ตรวจสอบเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ เห็นว่า
ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
จำเลยต่างเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับฝากเงินแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป
โดยธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับฝากเงินและทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรงกับโจทก์ตั้งแต่ช่วงปี
2534 ถึงปี 2540 ส่วนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับโอนกิจการมา
ดังนี้ขั้นตอนการให้บริการด้านสมุดเงินฝาก งานบัญชี ธุรกรรมทางการเงิน
รวมทั้งวิธีการบันทึกหลักฐานการรับฝากเงินและเบิกถอนเงิน
ตลอดจนการทำหลักฐานเอกสารด้านบัญชีการโอนกิจการระหว่างธนาคารดังกล่าว
จึงเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยตรงของฝ่ายจำเลย
ที่จำเลยต่อสู้คดีว่าโจทก์เบิกถอนเงินเองโดยโอนไปยังบัญชีอื่นเพื่อหักชำระหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารดังกล่าวและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์เพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชี
และเป็นการหักชำระหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
นั้นจำเลยย่อมมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
พ.ศ.2551 มาตรา 29 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดภาระการพิสูจน์และหน้าที่นำสืบตกแก่โจทก์
ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นความรับผิดของจำเลยนั้น เห็นว่า
พยานจำเลยทั้งสองปากเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลบัญชีของลูกค้า
คำเบิกความของพยานทั้งสองเป็นการเบิกความในหน้าที่ประจำที่ทำอยู่ตามขั้นตอนงานบัญชี ตรงตามเอกสารของฝ่ายจำเลยทุกฉบับ
จึงมีความน่าเชื่อถือที่จะรับฟัง นอกจากนี้จำเลยมีต้นฉบับเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของโจทก์ตามเช็คเงินสดมายืนยันอันบ่งชี้ได้ว่าจำเลยเบิกถอนเงินตามคำสั่งของโจทก์
หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยเบิกถอนเงินของโจทก์ออกไปโดยทุจริตไม่
ทั้งนายธวัชชัยยังเบิกความยืนยันว่าโจทก์ถอนเงินสดและขอให้โอนเงินในบัญชีของโจทก์ไปยังบัญชีบริษัทซี.วี.
ดับบลิว จำกัด และบริษัทพีรกานต์แมนชั่น จำกัด ที่โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
พยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวข้างต้นแสดงได้ว่าธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
ได้เบิกถอนเงินสดของโจทก์ไปโดยชอบ ส่วนพยานโจทก์
โจทก์อ้างตนเองเบิกความเฉพาะรายการฝากเงินในส่วนที่เป็นรายการฝากเงินของตัวโจทก์เอง
แต่รายการเบิกถอนเงินสด โอนเงินสด โอนหักบัญชีตามพยานเอกสารของจำเลย
ที่ทนายจำเลยถามค้าน โจทก์ตอบคำถามค้านทำนองว่าไม่รู้ ไม่รับรอง ไม่ยืนยันลายมือชื่อ
ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
ทำเองฝ่ายเดียวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นหักล้างพยานเอกสารของจำเลยและเป็นการขัดแย้งกับเอกสารของจำเลย
อีกประการหนึ่งโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการกู้เงินกับธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เพื่อทำธุรกิจมีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท
แต่เมื่อเงินในบัญชีของโจทก์ที่อ้างว่าถูกถอนออกไปจากบัญชีทั้งสิบบัญชีตั้งแต่ช่วงปี
2534 ถึง 2541 โจทก์กลับไม่ได้ตรวจสอบยอดเงินที่หายไปจำนวนมาก
จนระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปี จึงมาติดตามทวงถาม นับเป็นการผิดวิสัยผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก
ข้อนำสืบของโจทก์จึงเลื่อนลอยขาดน้ำหนักที่จะรับฟัง
พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักการรับฟังยิ่งกว่า
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า
รายการเบิกถอนเงินของจำเลยออกจากบัญชีทั้งสิบของโจทก์
จำเลยได้ทำรายการเบิกถอนเงินสดจากบัญชีทั้งสิบของโจทก์โดยถูกต้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินฝากตามฟ้องแก่โจทก์
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
สำหรับฎีกาของจำเลยในประเด็นเรื่องอายุความนั้น
เห็นว่า เมื่อฎีกาโจทก์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ได้
ดังนั้นถึงหากวินิจฉัยฎีกาของจำเลยประเด็นข้อนี้ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้
กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป
พิพากษายืน
ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ