โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7808 และโฉนดเลขที่ 7792 ถึง 7799ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี รวม 9 แปลงที่ดินโฉนดเลขที่ 7808 และโฉนดเลขที่ 7792 ถึง 7796 เนื้อที่แปลงละ 14 ตารางวา โฉนดเลขที่ 7797 ถึง 7799 เนื้อที่41 ตารางวา 37 ตารางวา และ 72 ตารางวา ตามลำดับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมีพื้นที่เชื่อมติดต่อกันอยู่ในแนวเขตที่ถูกเวนคืนทั้งหมด จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินให้โจทก์สำหรับโฉนดเลขที่ 7808 และโฉนดเลขที่ 7792 ถึง 7796 ตารางวาละ 5,000 บาท ส่วนโฉนดเลขที่ 7797 ถึง 7799ตารางวาละ 3,000 บาท โจทก์ยอมรับเงินค่าทดแทนตามจำนวนเงินที่จำเลยกำหนด แต่สงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนเพิ่ม ทั้งนี้เพราะจำเลยมิได้กำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินให้เท่ากับราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ทั้งสภาพและที่ตั้งของที่ดินโจทก์ดังกล่าวอยู่ในย่านตลาดการค้า มีความเจริญและพัฒนา มีเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครด้านเขตบางกอกน้อยราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับตารางวาละ 20,000 บาทที่ดินของโจทก์ทั้งหมดมีเนื้อที่รวม 194 ตารางวา จึงมีราคาทั้งสิ้น 3,880,000 บาท แต่จำเลยกำหนดให้เพียง750,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 3,130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน4,029,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 3,130,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการดำเนินงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระรามหกซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ โดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2525ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2527 ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7808และโฉนดเลขที่ 7792 ถึง 7796 อยู่ติดถนนจรัญสนิทวงศ์ในระยะ 40 เมตร เป็นที่ดินหน่วยที่ 1 ราคา ตารางวาละ5,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7797 ถึง 7799 อยู่ในซอยแยกจากถนนจรัญสนิทวงศ์ ในระยะ 40 เมตร ถือว่าเป็นที่ดินหน่วยที่ 2 ราคาตารางวาละ 3,000 บาท จำเลยจึงได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7808และโฉนดเลขที่ 7792 ถึง 7796 ในราคาตารางวาละ 5,000 บาท เป็นเงินแปลงละ 70,000 บาท และกำหนดค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 7797 ถึง 7799 ในราคาตารางวาละ 3,000 บาท เป็นเงิน 123,000 บาท 111,000 บาท และ 96,000 บาทตามลำดับ ซึ่งอธิบดีกรมโยธาธิการจำเลยเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นชอบกับค่าทดแทนนั้นแล้ว ค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ดังกล่าวจึงเป็นราคาที่สมควรและยุติธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน362,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่28 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 บัญญัติว่า "เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้
(1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ" เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2527 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์เท่าราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 28 ธันวาคม 2527ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ดังนั้น ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือหลักเกณฑ์ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อใช้เงินทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ตำบลบางกรวยอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่29 ธันวาคม 2524 ให้มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2525ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2527 จึงไม่ถูกต้องและขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เพราะมิใช่ราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับแม้จำเลยจะได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามมติของคณะกรรมการดำเนินงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระรามหกที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีก็ตาม เงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ดังกล่าวก็ไม่ถูกต้องตามความเป็นธรรมโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียก เงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นได้ แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าได้มีการซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกันในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ คือวันที่28 ธันวาคม 2527 จึงไม่อาจทราบราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดที่แท้จริงในวันนั้นได้ คงได้ความจากคำเบิกความของนายนิคม คำนวณมาสก ผู้อำนวยการสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดิน และนายเวนัย เจริญอาจเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีพยานโจทก์ว่าในการกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จะนำราคาซื้อขายในท้องตลาดของบุคคลทั่วไปมาประกอบการพิจารณา โดยปกติจะกำหนดราคาสามปีต่อหนึ่งครั้ง และจะต้องทำให้เสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคมของปีที่ประกาศใช้บังคับโดยนำรายการซื้อขาย 3 รายสุดท้ายของปีที่สามมาหาค่าเฉลี่ย สำหรับบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2530ตามเอกสารหมาย จ.23 ได้ประกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2527ก่อนวันพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับเพียง 3 วัน เท่านั้น จึงเป็นการกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดที่ใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับมากที่สุด ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โดยถือหลักเกณฑ์ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.23 มาประกอบการพิจารณา โดยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7808 และโฉนดเลขที่ 7792 ถึง 7796 ซึ่งเป็นที่ดินในหน่วยที่ 1 ราคาตารางวาละ 8,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่7797 ถึง 7799 ซึ่งเป็นที่ดินในหน่วยที่ 2 ราคาตารางวาละ4,000 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้โจทก์อีก 362,222 บาท จึงชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องตามความเป็นธรรมแล้ว
พิพากษายืน