โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาย อ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 10,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานระหว่างพักรักษาตัวเป็นเงิน 9,000 บาท รวมเป็นเงิน 19,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (เดิม) จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 14,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (เดิม) เสียด้วย และให้ยกคำร้องของผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า นาย อ. ผู้เสียหาย นายอนัย และนางบัวสอน มารดาผู้เสียหายเป็นราษฎรบ้านม่วง หมู่ที่ 5 ตำบลนาส่วง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนจำเลยและนายณัฐพล บุตรชายเป็นราษฎรบ้านโนนกระแต หมู่ที่ 11 ตำบลนาส่วง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหาย นายอนัย นายบุญมี และนายทรงศักดิ์ นั่งดื่มสุราและรับประทานอาหารอยู่ที่หน้าบ้านของนายทรงศักดิ์ นายณัฐพลขับรถจักรยานยนต์จากบริเวณกระท่อมนาริมสระน้ำที่เกิดเหตุด้านทิศตะวันออกผ่านหน้าบ้านของนายทรงศักดิ์ไปซื้อน้ำแข็ง หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที นายณัฐพลขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าบ้านของนายทรงศักดิ์กลับไปที่เกิดเหตุ นายอนัยขับรถจักรยานยนต์ มีผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายตามไปพบจำเลยและนายณัฐพลอยู่ในที่เกิดเหตุ ต่อมาผู้เสียหายถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดแทงที่ท้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายและนายอนัยเบิกความหลังเกิดเหตุปีเศษ น่าจะเข้าใจหรือจำรายละเอียดเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไป ผู้เสียหายและนายอนัยไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย คำเบิกความของผู้เสียหายและนายอนัยมีน้ำหนักรับฟัง ที่จำเลยเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้แทงผู้เสียหายนั้น ชั้นสอบสวนจำเลยมีทนายความ จำเลยให้การปฏิเสธ โดยไม่ให้รายละเอียด ส่วนนายณัฐพลให้การชั้นสอบสวนว่าขณะเกิดเหตุทั้งสี่คนห้ามกันและยื้อกันไปมาจนล้มลงด้วยกันทั้งสี่คน มีดที่ถืออยู่ในมือจึงแทงเข้าหน้าท้องด้านขวาโดยนายณัฐพลไม่ได้ตั้งใจ แม้จะเป็นไปในทำนองเดียวกับที่นายณัฐพลเบิกความในชั้นพิจารณาว่าเป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย แต่เป็นการให้การหลังเกิดเหตุกว่า 2 เดือน นายณัฐพลมีเวลาคิดไตร่ตรองปรุงแต่งคำให้การ ทั้งคำให้การและคำเบิกความดังกล่าวยังขัดแย้งกับร่องรอยบาดแผลของผู้เสียหายที่มีรอยลากยาวเป็นเส้นโค้งสลับไปมาจากบริเวณหน้าอกด้านซ้ายมาที่บริเวณลำตัวด้านขวาที่น่าจะเกิดจากการที่ผู้เสียหายยื้อแย่งมีดกันกับจำเลยในระยะประชั้นชิดเช่นที่ผู้เสียหายเบิกความ ไม่ใช่ในลักษณะที่ผู้เสียหายพุ่งเข้ามาจะทำร้ายนายณัฐพล จึงถูกนายณัฐพลใช้อาวุธมีดแทงในขณะที่ผู้เสียหายนอนหงาย นายณัฐพลคร่อมอยู่ด้านบนมีนายอนัยยืนอยู่ด้านหลังดึงนายณัฐพลไว้เช่นที่นายณัฐพลเบิกความ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่นายณัฐพลขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วผ่านกลุ่มผู้เสียหายที่กำลังนั่งดื่มสุรา ผู้เสียหายเดินออกไปที่ถนนเพื่อจะโบกให้นายณัฐพลหยุดรถจักรยานยนต์ นายณัฐพลไม่หยุด แต่ขับรถจักรยานยนต์กลับไปที่กระท่อมนาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้จำเลยฟัง ฝ่ายจำเลยและฝ่ายผู้เสียหายเป็นราษฎรคนละหมู่บ้านกัน ระหว่างนั้นนายอนัยและผู้เสียหายซึ่งอยู่ในวัยฉกรรจ์ขับรถจักรยานยนต์ตามมา แล้วเกิดการโต้เถียงกันขึ้น ผู้เสียหายและนายณัฐพลจะชกต่อยทำร้ายกัน จำเลยซึ่งเป็นบิดาของนายณัฐพลจึงเข้าห้ามและใช้มีดแทงทำร้ายผู้เสียหายก็ด้วยความรักความห่วงใยบุตร เมื่อผู้เสียหายล้มลง จำเลยก็ไม่ได้แทงซ้ำอีก มูลเหตุของเรื่องไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เกิดจากความเข้าใจผิดกัน ทั้งผู้เสียหายมีบาดแผลถูกแทงด้วยวัตถุปลายแหลม ไม่ทะลุช่องท้อง นอนรักษาในโรงพยาบาล วันที่ 8 ถึง 10 พฤษภาคม 2559 บาดแผลทุเลาใน 7 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน แสดงว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บไม่รุนแรง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยสุจริตต่อไป โดยการรอการลงโทษจำคุก แต่เพื่อป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดในทำนองนี้อีก เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลยไว้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในคดีส่วนแพ่งได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีส่วนอาญาฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คดีส่วนแพ่งย่อมฟังได้ว่า จำเลยทำละเมิดต่อผู้เสียหายและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้ สำหรับค่าสินไหมทดแทนมีเพียงใดนั้น เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชดใช้มานั้น เหมาะสมแล้ว แม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดในคดีส่วนแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้วางโทษปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30