คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1768/2562 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 393/2563 (ที่ถูกคือ อ.398/2563) คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 397/2563 ของศาลชั้นต้น และนับโทษในสำนวนแรกต่อจากโทษในสำนวนหลัง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำนวนแรก จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง สำนวนหลัง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวมจำคุกสำนวนละ 24 เดือน นับโทษจำคุกสำนวนแรกต่อจากสำนวนหลัง และนับโทษทั้งสองสำนวนนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1768/2562 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 397/2563 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 398/2563 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 จำเลยทำหนังสือยืนยันความรับผิดชอบต่อโจทก์ ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. 6 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จำนวนเงิน 20,000,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2562 จำนวนเงิน 20,000,000 บาท ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 30 กันยายน 2562 จำนวนเงิน 20,000,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จำนวนเงิน 20,000,000 บาท ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จำนวนเงิน 20,000,000 บาท และฉบับที่ 6 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวนเงิน 28,106,869 บาท มอบให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" ตามเช็คและใบแจ้งผลเช็คคืน และใบนำส่งเช็คคืนและแจ้งการหักบัญชี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องทั้งสองสำนวนมีสาระสำคัญว่าจำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์ อันเนื่องจากมีข้อตกลงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่มีต่อกันจำนวนหลายรายการและหลายคราว โดยจำเลยยังคงค้างชำระค่าหุ้นที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการขายหลักทรัพย์ให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว โดยจำเลยนำสืบต่อสู้ มิได้หลงเข้าใจผิดเกี่ยวกับเวลาที่กระทำความผิด ทั้งโจทก์ยังบรรยายฟ้องด้วยว่า เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามระเบียบและวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" พร้อมทั้งคืนเช็คและใบคืนเช็คให้แก่โจทก์ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 และฉบับที่ 6 เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 โดยโจทก์ได้ส่งสำเนาเช็ค สำเนาใบแจ้งผลเช็คคืน และสำเนาใบนำส่งเช็คคืนและแจ้งการหักบัญชีของเช็คทั้งหกฉบับมาท้ายฟ้อง ซึ่งสำเนาใบแจ้งผลเช็คคืน และสำเนาใบนำส่งเช็คคืนและแจ้งการหักบัญชี ระบุวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คือวันที่ที่โจทก์ได้รับเช็คคืนจากธนาคาร ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันถึงมูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นลำดับ และมีรายการสถานะหุ้นและเงินล่าสุดประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นพยานหลักฐานสนับสนุน โดยจำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธเกี่ยวกับเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว เท่ากับจำเลยยอมรับว่าได้ทำหนังสือยืนยันความรับผิดชอบต่อโจทก์ โดยออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับมอบให้แก่โจทก์ ซึ่งหนังสือยืนยันความรับผิดชอบ ข้อ 1 มีข้อความระบุว่า ฝ่ายที่หนึ่ง (จำเลย) ค้างชำระค่าหุ้นที่ฝ่ายที่หนึ่งเป็นผู้ดำเนินการขายหลักทรัพย์ให้แก่ฝ่ายที่สอง (โจทก์) เป็นเงิน 128,106,869 บาท โดยฝ่ายที่หนึ่งตกลงจะชำระค่าหุ้นให้แก่ฝ่ายที่สองเป็นงวด ๆ ดังต่อไปนี้ ...ในการชำระเงินดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายที่หนึ่งตกลงชำระเป็นเช็คธนาคารทั้งหมด 6 ฉบับ ให้แก่ฝ่ายที่สอง โดยระบุรายการเช็คที่จำเลยสั่งจ่าย 6 ฉบับ ซึ่งมียอดเงินตรงกันกับยอดเงินตามที่ระบุว่าจำเลยจะชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ในแต่ละงวด และมีรายละเอียดตรงกับเช็คพิพาททั้งหกฉบับทุกประการ หนังสือยืนยันความรับผิดชอบดังกล่าว ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่ายอดหนี้ 128,106,869 บาท เป็นยอดหนี้ประมาณการที่ยังไม่หักต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ให้หุ้นลมหรือหุ้นที่ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ไปลงทุนนั้น จำเลยกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า รายการหุ้นตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ไม่อาจซื้อขายเป็นหุ้นลมได้ โดยจะต้องมีการเปิดบัญชีและหลักทรัพย์ค้ำประกัน และหุ้นตามรายการดังกล่าวโจทก์มอบหมายให้จำเลยทำการซื้อผ่านตลาดหลักทรัพย์ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงมีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หากเป็นการร่วมลงทุนดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ย่อมต้องเป็นการลงทุนเพื่อนำผลกำไรมาแบ่งปันกัน ขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบในผลขาดทุนร่วมกัน ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงที่จะร่วมลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน แต่โจทก์ไม่มีเงินลงทุน จำเลยจึงได้ให้หุ้นลมหรือหุ้นที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนแก่โจทก์ไปลงทุนก่อน เมื่อขายหุ้นได้กำไรก็จะนำมาแบ่งกัน แต่ถ้าขายแล้วขาดทุน จำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียวจึงขัดต่อเหตุผล พฤติการณ์เชื่อว่าโจทก์ฝากเงินจำเลยไปลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจริง เมื่อจำเลยยอมรับว่าลงลายมือชื่อในหนังสือยืนยันความรับผิดชอบและออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับมอบให้แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือยืนยันความรับผิดชอบและออกเช็คพิพาทโดยบอกว่าจะไม่ฟ้องคดีนั้น ได้ความจากจำเลยเบิกความว่า ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 มีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ 128,000,000 บาทเศษ จำเลยกับโจทก์จึงร่วมกันทำรายการสถานะหุ้นและเงินล่าสุดประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 โจทก์บอกว่าต้องการใช้เงิน จึงให้จำเลยออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับให้แก่โจทก์ ยอดกำไรดังกล่าวยังไม่หักยอดหุ้นบางตัวที่ยังไม่ขายและอาจจะขาดทุน โจทก์บอกว่าหุ้นตัวที่ขาดทุนไม่ต้องมาหักจากโจทก์ได้หรือไม่ จำเลยบอกว่าไม่มีปัญหา จึงเป็นการยอมรับว่าจำเลยออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ ทั้งหากจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1 และออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับเป็นจำนวนเงินรวมกันสูงถึง 128,000,000 บาทเศษ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งหกฉบับเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ตามหนังสือยืนยันความรับผิดชอบ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยนอกจากที่วินิจฉัยมาแล้ว ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน