ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคำนวณเงินบำนาญชราภาพ: การรวมระยะเวลาส่งเงินสมทบ ม.33 และ ม.39 และฐานคำนวณเงินสมทบ
แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ใช้บังคับก็ตาม แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว โดยเรื่องประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 76 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน ไม่ว่าระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 104 วรรคสอง กำหนดให้การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ช้ากว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2541 การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพนี้จึงหาได้นับตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมงวดแรก เนื่องจากวันดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ พ.ศ.2541 มาตรา 3 กำหนดให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป จึงต้องนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นวันเริ่มการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย บทบัญญัติดังกล่าวหาใช่เป็นการตัดสิทธิการนับระยะเวลาส่งเงินสมทบเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพของโจทก์ และมิใช่มีผลเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ดังนั้น ตามคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ที่กำหนดให้คำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่โจทก์ โดยคำนวณจำนวนการส่งเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จึงชอบแล้ว ส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพนั้น ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 ข้อ 2 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละยี่สิบของค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงนั้น เมื่อผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพอาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ก็ได้ แล้วแต่กรณี การคำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพจึงต้องคำนวณจากจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนในแต่ละกรณี หรือทั้งสองกรณีประกอบกัน หาใช่คำนวณจากค่าจ้างเฉพาะที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ มิฉะนั้น การเป็นผู้ประกันตนเฉพาะแต่เพียงตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ผู้ประกันตนมิได้เป็นลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ก็มิอาจมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพไปได้ เนื่องจากไม่มีค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินดังกล่าว ดังนั้น ค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบเพื่อจ่ายเงินบำนาญชราภาพตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงหมายถึงค่าจ้างที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้รับจากนายจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งไม่มีนายจ้างด้วย และตามมาตรา 39 วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ข้อ 1 กำหนดให้เป็นจำนวนเดือนละ 4,800 บาท เมื่อมาตรา 42 ให้นับระยะเวลาประกันตนตามมาตรา 33 และหรือมาตรา 39 ทุกช่วงเวลาเข้าด้วยกันเพื่อก่อสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน การที่โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ในช่วงเวลาหกสิบเดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และได้รับประโยชน์จากมาตรา 42 ในการก่อสิทธิเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน จึงต้องนำเงินค่าจ้างที่เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามกฎกระทรวงที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเสมือนเป็นค่าจ้างมารวมเฉลี่ยเพื่อคำนวณเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ชอบแล้ว