โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกันตามข้อสัญญา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งคืน ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการที่อาจนำทรัพย์สินออกให้เช่าเป็นเงินเดือนละ15,000 บาท รวม 2 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 1 ใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อโดยปราศจากความระมัดระวังเมื่อโจทก์นำรถยนต์ออกขายจึงได้ราคาเพียง 236,000 บาทเมื่อหักราคาเช่าซื้อที่โจทก์หักค่าใช้จ่ายแล้วราคายังขาดอยู่อีก 58,397 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน88,397 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่เสียหายและขาดประโยชน์โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์เกิน 6 เดือน นับแต่ได้รับรถยนต์คืน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ฟ้องเรียกให้ชดใช้ราคาที่โจทก์ยังได้รับชำระไม่ครบอันเกิดจากการใช้รถยนต์พิพาทโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความไว้ จึงต้องนำมาตรา 562, 563 ในลักษณะเช่าทรัพย์ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 6 เดือน นับแต่วันได้รับรถยนต์พิพาทคืนคดีโจทก์จึงขาดอายุความ นั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีที่ผู้ให้เช่าจะต้องฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 หมายถึงกรณีที่ผู้เช่าปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไป แต่กรณีนี้ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์พิพาทอย่างไม่ระมัดระวังดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จึงนำอายุความ6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563มาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ และคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทได้ไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์บังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน