คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 8 (3), 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 100,000 บาท รวม 2 กระทง ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 100,000 บาท รวมจำคุกและปรับคนละ 2 กระทง เป็นปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 200,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาท จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 6 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เลิกประกอบธุรกิจหรือเลิกกิจการและให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเลิกการถือหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 และมาตรา 41 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 41 อีกบทหนึ่ง ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละ 100,000 บาท จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละ 50,000 บาท เมื่อรวมโทษของจำเลยที่ 6 กับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 วันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 แล้วมีคำสั่งว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลดำเนินการบังคับคดี ออกหมายจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เพื่อบังคับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในอายุความ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 แล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผลบังคับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฝ่าฝืนกฎหมายจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 อันเป็นวันเสร็จการชำระบัญชี ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ไต่สวนพยานจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวกับการเลิกกิจการและการเลิกถือหุ้นของบุคคลสัญชาติไทย โดยให้โอกาสโจทก์คัดค้าน กับให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 มาบังคับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ งดออกหมายจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว จึงส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระค่าปรับวันละ 10,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต้องชำระค่าปรับหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 8 (3), 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมีผลบังคับนับตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 แต่มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า คนต่างด้าวผู้ใดประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 6 มาตรา 7 หรือมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการประกอบธุรกิจ หรือเลิกกิจการ หรือสั่งเลิกการเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ดังนี้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิได้กำหนดโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จึงเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ครบถ้วน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 วันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ก็เพื่อให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีผลบังคับแล้วมีเงื่อนไขในการบังคับโทษครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องชำระค่าปรับนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าปรับนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2561 อันเป็นเวลาหลังจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผลบังคับแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดต้องชำระค่าปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา กรณีจึงต้องบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน