โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 334, 335
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ต่อมาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตราข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังกล่าวตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 13 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่" แต่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้การประชุมในเรื่องต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะข้อความที่ว่า "กิจการอื่นตามอำนาจหน้าที่" นั้น ย่อมต้องหมายความว่าอำนาจหน้าที่ของโจทก์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อำนาจ เมื่อมาตรา 2 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันบัญญัติเฉพาะให้บทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ยังคงใช้บังคับต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ และภายใต้บังคับมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ระบุว่าที่ใดในบทบัญญัติดังกล่าวอ้างถึงรัฐสภาหรือประธานรัฐสภาให้หมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจเกี่ยวกับการจัดการดูแลทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา ทั้งข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนและฎีกาของโจทก์ได้ความว่า การบริหารสโมสรรัฐสภาต้องดำเนินการตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 เมื่อพิจารณาข้อบังคับสโมสรรัฐสภาดังกล่าวที่ระบุว่า สโมสรรัฐสภาเป็นสถานที่ให้บริการแก่สมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี และสมาชิกสโมสรในการพบปะสังสรรค์ นันทนาการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่มวลสมาชิก โดยสมาชิกต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงและค่าบริการสมาชิกตามที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับการบริการของสโมสรรัฐสภาต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา ส่วนที่มาของกรรมการสโมสรรัฐสภาตามข้อบังคับข้อ 18 และ ข้อ 19 ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมของสมาชิกสโมสรรัฐสภา และคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาเลือกกรรมการด้วยกันหนึ่งคนเป็นนายกสโมสร และให้นายกสโมสรแต่งตั้งผู้จัดการสโมสรรัฐสภา คณะกรรมการสโมสรรัฐสภาและผู้จัดการสโมสรรัฐสภามีอำนาจดูแลรักษาและจัดการบริหารทรัพย์สินของสโมสร อนุมัติการสั่งจ่ายเงินของสโมสร ส่วนผู้จัดการสโมสรมีหน้าที่จัดการสโมสรตามวัตถุประสงค์ ดูแลและจัดการซึ่งกิจการโดยทั่วไปของสโมสร กับให้ผู้จัดการสโมสรเป็นตัวแทนสโมสรในนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกในเรื่องกิจการและทรัพย์สินของสโมสรตามข้อบังคับข้อ 20, 30 และ 31 โจทก์มิได้เป็นคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา หรือผู้จัดการสโมสรรัฐสภา จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา แม้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินกิจการของสภาตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 10 (1) แต่สโมสรรัฐสภาไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ควบคุมดูแลของโจทก์ และไม่ได้เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามประกาศรัฐสภา เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2545 แม้จะมีหน่วยงานและข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานสโมสรรัฐสภา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มอบให้สำนักบริหารงานกลางมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับกิจการสโมสรรัฐสภา และสำนักคลังและงบประมาณมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีในสโมสรรัฐสภาและด้านการเงินของสโมสรรัฐสภา แต่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นเพียงการมอบหมายงานให้สำนักบริหารกลางและสำนักงานคลังและงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานและข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปช่วยดูแลงานของสโมสรรัฐสภา อันมีลักษณะเป็นงานในภาพรวมของการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการสโมสรรัฐสภาเท่านั้น แต่การบริหารสโมสรรัฐสภาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรรัฐสภาตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภาข้างต้น โจทก์ในฐานะประธานรัฐสภามีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการยุติการดำเนินการเมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการได้ดำเนินการขัดต่อวัตถุประสงค์ของสโมสร หรืออาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสโมสร รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นตามสมควร ซึ่งเป็นเรื่องการกำกับดูแลตามที่ข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 ข้อ 21 กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ได้ให้โจทก์เข้ามามีอำนาจในการบริหารและจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา และไม่ใช่อำนาจหน้าที่ประธานรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ส่วนที่โจทก์อ้างในทำนองว่าโจทก์ในฐานะประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 ซึ่งโจทก์อ้างเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยกับพวกตามฟ้อง เห็นว่า การที่กฎหมายบัญญัติให้มีผู้รักษาการก็เพื่อให้ทราบถึงผู้ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ลำพังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายไม่ได้หมายความรวมถึงให้โจทก์เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาได้ในทุกกรณี การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจงว่า ผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรง โดยเฉพาะการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 และ 157 เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ เมื่อความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (1) ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 หมวด 1 ข้อ 10 (2) ระบุว่า สมาชิกสามัญ ได้แก่ สมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นสมาชิกสโมสรรัฐสภา โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและฎีกาอ้างว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะประธานรัฐสภา ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว การที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในฐานะส่วนตัวที่เป็นสมาชิกสโมสรรัฐสภา ขัดกับที่โจทก์บรรยายฟ้องและฎีกามาข้างต้น ประกอบกับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นผู้มีหน้าที่จัดการ รักษาทรัพย์ ได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือกระทำการในหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ได้เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์ไป และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ รักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และเป็นเจ้าพนักงานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ทั้งยังเป็นการลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสโมสรรัฐสภา โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอย่างไร ฎีกาโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง ส่วนโจทก์ฎีกาต่อไปว่าในขณะเกิดเหตุไม่มีคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสิ้นสุดลง ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เลขหน้า 187, 190 และ 198 คณะกรรมการสโมสรรัฐสภาจึงสิ้นสภาพ ไม่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินของสโมสร แม้ต่อมานายจเร เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา โดยให้จำเลยเป็นประธานกรรมการและผู้จัดการสโมสรตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 1292/2557 นั้น คำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ดังนั้น คำสั่งที่แต่งตั้งคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา ที่จำเลยเป็นประธานสโมสรและแต่งตั้งกรรมการสโมสรรัฐสภา จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบและโดยสภาพกรรมการสโมสรรัฐสภาย่อมไม่ดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภาตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น การที่นายจเรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาจะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวอีกส่วนหนึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะมีอำนาจเข้าบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการสโมสรรัฐสภาจึงไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภาตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 334 และ 335 ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ในฐานะประธานรัฐสภาเป็นผู้เสียหายเป็นฎีกาในรายละเอียดปลีกย่อยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ดังนี้ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน