โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ตามเช็คฉบับหมาย จ.2 จ.10 จ.16 และ จ.20 จำคุกกระทงละ 2 เดือน ตามเช็คฉบับหมาย จ.4 จ.6 จ.8 จ.12 จ.14 จ.18 จ.22 จ.24 และ จ.26 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 17 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทรวม 13 ฉบับ ให้แก่นายยงศีล ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระนายยงศีลนำเช็คพิพาททั้งสิบสามฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบแจ้งผลเช็คคืน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทรวม 13 ฉบับ ให้แก่นายยงศีล นายยงศีลจึงเป็นบุคคลที่มีเช็คไว้ในการครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน นายยงศีลจึงเป็นผู้ทรงโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ประกอบมาตรา 988 (4) แม้นายยงศีลมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการรับเช็คพิพาทมาดังที่โจทก์กล่าวอ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าขณะที่ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์