โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 334, 335 และนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 246/2563 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (11) วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง จำคุก 1 ปี ฐานพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง จำคุก 2 ปี 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง คงจำคุก 8 เดือน ฐานพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน 40 วัน รวมจำคุก 1 ปี 16 เดือน 40 วัน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 246/2563 ของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก จำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 8 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟัง ยกฟ้องข้อหาพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ส่วนคำขอที่ให้นับโทษจำเลยต่อและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นางสาววรรณวลี ผู้เสียหาย และนายอุดร สามีผู้เสียหายร่วมกันประกอบกิจการร้านขายกระจก อลูมิเนียมและวัสดุก่อสร้าง ชื่อร้าน ด. ส่วนจำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายในตำแหน่งพนักงานทั่วไป ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยลักคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง ราคา 16,600 บาท ของผู้เสียหายไปส่วนรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นดรีม จำนวน 1 คัน ราคา 15,000 บาท ซึ่งจดทะเบียนในนามของนายอุดรและเก็บรักษาไว้ในร้าน ด. ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายได้หายไป ต่อมาผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย จากนั้นพนักงานสอบสวนยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้จากร้าน ร. และร้าน ช. เป็นของกลางตามลำดับ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางจิตติมา ผู้รับซ่อมรถจักรยานยนต์ของกลางจากจำเลย ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ตามหมายจับ
คดีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้างตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของกลางที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไป แต่โจทก์มีผู้เสียหายและนายโชคดีเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมเบิกความสอดคล้องต้องกันตั้งแต่ผู้เสียหายตรวจสอบพบว่ารถจักรยานยนต์ของกลางสูญหายไป เมื่อสอบถามนายโชคดีทราบว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางออกไปจากร้านของผู้เสียหาย จนกระทั่งผู้เสียหายสืบทราบว่ารถจักรยานยนต์ของกลางกำลังจะถูกแยกชิ้นส่วนที่ร้าน ช. จึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจสอบที่ร้านดังกล่าวก็พบรถจักรยานยนต์ของกลางตามที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจริง โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธใด ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยยังนำสืบรับว่าจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปซ่อมที่ร้านดังกล่าวจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงในทำนองว่าจำเลยไม่เคยแจ้งแก่นางจิตติมาให้แยกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเท่านั้น เมื่อในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยและทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่านางจิตติมาเป็นเจ้าของร้านรับซ่อมรถจักรยานยนต์ของกลางจากจำเลยและให้การไว้ โจทก์จึงแถลงไม่ติดใจสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2563 ย่อมถือว่าจำเลยรับว่านางจิตติมาให้การตามบันทึกคำให้การดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (3) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามบันทึกคำให้การดังกล่าวว่าในชั้นสอบสวนนางจิตติมาให้การว่า จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปให้นางจิตติมาซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วนางจิตติมาโทรศัพท์แจ้งให้จำเลยไปรับพร้อมกับชำระค่าซ่อม แต่จำเลยแจ้งว่าไม่มีเงิน ขอให้นางจิตติมาขายรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อหักเป็นค่าซ่อมโดยแจ้งว่ารถจักรยานยนต์เป็นของจำเลย เมื่อนางจิตติมาขอสมุดคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์จากจำเลย จำเลยกลับแจ้งว่าสูญหายจึงให้นางจิตติมาขายแบบแยกชิ้นส่วน เมื่อนางจิตติมาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะแกล้งให้การปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษและเชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริง แม้การที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปซ่อมจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามปกติก็ตาม แต่ได้ความตามที่จำเลยนำสืบรับว่าเมื่อรถจักรยานยนต์ซ่อมเสร็จแล้วจำเลยได้นำใบแจ้งหนี้ไปขอเบิกค่าซ่อมจากผู้เสียหาย ครั้นได้รับเงินค่าซ่อมมาแล้วจำเลยไม่ได้ไปรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืน ทั้งยังหลอกนางจิตติมาว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของจำเลยและจำเลยไม่มีเงินชำระค่าซ่อมโดยให้นางจิตติมาขายแยกชิ้นส่วนเพื่อหักชำระค่าซ่อม ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการลักรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้างโดยใช้นางจิตติมาเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายอันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์ของกลางได้โดยไม่ปรากฏว่านางจิตติมาแยกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางตามที่ถูกหลอก จำเลยจึงมีความผิดข้อหาพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง แม้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณากลับได้ความว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของนายอุดรสามีผู้เสียหาย แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องในความผิดข้อหาดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายควรปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่จำเลยกลับลักทรัพย์ของผู้เสียหายและพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปหลายรายการ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 50 ปี ควรมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้ว แต่จำเลยกลับกระทำความผิดโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้เสียหาย ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น