โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3786 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา โดยตกลงกันให้มีกรรมสิทธิ์คนละ 1 ใน 4 ส่วน และโจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายและลงชื่อในที่ดินตามลำพัง โดยจำเลยที่ 1สัญญาว่าจะลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในภายหลังเมื่อซื้อที่ดินแล้ว โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในโฉนดแต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนตลอดมา และที่สุดจำเลยทั้งสามปฏิเสธว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรวม เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ราคาที่ดินไร่ละ 1,000,000 บาทส่วนของโจทก์เป็นเงิน 7,257,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาหรือให้จำเลยใช้เงินจำนวน7,257,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์แทน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า วันที่ 29 มิถุนายน 2516 โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เข้าหุ้นกันจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดสหโสภณ มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เข้าหุ้นกันในห้างหุ้นส่วนจำกัดพัทยาเอ็กซ์เชน มีจำเลยที่ 3เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในการประกอบการของห้างทั้งสอง จำเลยทั้งสามดำเนินการด้วยตนเอง โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อมีผลกำไรจำเลยทั้งสามจะแบ่งให้แก่โจทก์ เดือนตุลาคม 2525 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำเอกสารแสดงกิจการและทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนเพื่อโจทก์จะได้ทราบถึงส่วนแบ่งในทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบกิจการในห้างหุ้นส่วนรวมทั้งได้ระบุที่ดินโฉนดเลขที่ 3786 ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการประกอบกิจการห้างทั้งสองร่วมกัน ต่อมาโจทก์เห็นว่าทรัพย์สินในห้างทั้งสองประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์หลายรายการ และหุ้นของบริษัท พัทยาสปอร์ตบาซ่าร์ จำกัด ที่จำเลยที่ 1 ระบุมานั้นมีมูลค่าพอที่จะแบ่งเป็นเงินจำนวนมาก จึงได้ขอเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาท แลกเปลี่ยนจากการที่โจทก์ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างทั้งสองและผู้ถือหุ้นในบริษัทพัทยาสปอร์ตบาซ่าร์ จำกัดจำเลยที่ 1 ตกลงโดยทำสัญญายอมให้เงินโจทก์ 5,000,000 บาทและโจทก์ตกลงโอนหุ้นและออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสหโสภณห้างหุ้นส่วนจำกัดพัทยาเอ็กซ์เชน และโอนหุ้นบริษัทพัทยาสปอร์ตบาซ่าร์ จำกัด ให้จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์รับเงินไปแล้วไม่ยอมทำสัญญาหุ้นส่วนใหม่จดทะเบียนออกจากการเป็นหุ้นส่วนและโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 ขณะที่ซื้อขายที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสามมิได้ตกลงให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และโจทก์ไม่เคยชำระเงินให้ผู้ขายโดยฝากไว้กับจำเลยที่ 1 แต่ประการใดเงินที่ซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการประกอบการของห้างหุ้นส่วนที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อโจทก์ออกจากหุ้นส่วนแล้วจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว ทั้งการที่จำเลยที่ 1จ่ายเงิน 5,000,000 บาท แก่โจทก์เพื่อยอมให้โจทก์ออกจากหุ้นส่วนในปี 2530 นั้น มูลค่าเงินที่โจทก์ได้รับสูงกว่ามูลค่าหุ้นในห้างหุ้นส่วนทั้งสองและบริษัทดังกล่าวอยู่มาก โจทก์ฟ้องเกี่ยวกับการลงชื่อเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดพิพาทภายหลังคดีขาดอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ขอให้ยกฟ้องและให้บังคับโจทก์ลงลายมือชื่อคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมห้างหุ้นส่วนจำกัดสหโสภณ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพัทยาเอ็กซ์เชน ให้แก่จำเลยที่ 1หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้เอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลยทั้งสาม แต่จำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจำนวน1,000,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของค่าที่ดินให้แก่โจทก์แล้วพิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 3786หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามและหากจำเลยทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติตามดังกล่าวข้างต้นได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 876,874.99 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 876,874.99บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหโสภณและห้างหุ้นส่วนจำกัดพัทยาเอ็กซ์เชน แต่เป็นของโจทก์กับจำเลยทั้งสามร่วมกันโดยเป็นของโจทก์ 1 ใน 4 ส่วน
ปัญหาต่อไปที่ดินพิพาทมีราคาเท่าใด เห็นว่าที่ดินพิพาทมีราคาตารางวาละ 2,500 บาท รวมราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 7,257,500 บาทส่วนของโจทก์ที่ 1 ใน 4 ส่วนคิดเป็นเงิน 1,814,375 บาท จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างเพียงว่าราคาประเมินบางส่วนมีราคาเพียงตารางวาละ 2,000 บาทและขณะนี้ที่ดินมีราคาตกต่ำไม่มีการซื้อขายกันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหากซื้อขายกันก็ไม่เกินตารางวาละ 2,000 บาท นั้นเป็นความเข้าใจของจำเลยที่คาดเดาเอาเองจะนำมาประมาณการเพื่อใช้เป็นตัวกำหนดราคาที่ดินพิพาทให้ต่ำลงไม่ได้ ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1นำเงิน 1,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์ไปหักออกจากค่าที่ดินดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่เงินที่จ่ายเป็นค่าที่ดินขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ราคาที่ดินพิพาทให้ด้วยนั้น โจทก์จะต้องยื่นฎีกาโดยทำเป็นคำฟ้องขึ้นมา จะขอมาในคำแก้ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้นเห็นว่าปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ มิได้ระบุว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการทำนิติกรรมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่เป็นความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสามระบุชื่อในที่ดินพิพาทแต่โดยลำพังเอง จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 240 มาบังคับไม่ได้ และการกระทำของจำเลยทั้งสามมิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จะนำอายุความละเมิดมาบังคับไม่ได้ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แต่จำเลยทั้งสามฎีกาเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกินกำหนด 1 ปีแล้วเท่านั้น มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าในกรณีที่โอนที่ดินไม่ได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ โดยหักเงินจำนวน1,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ออก แต่ในกรณีที่สามารถโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้นำยอดเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์แล้วจำนวน 1,000,000 บาท มาหักทอนด้วย กรณีอาจมีผลทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เกินกว่าสิทธิที่ตนควรได้รับ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้สมควรให้โจทก์คืนเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1ในกรณีที่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3786 แต่ให้โจทก์คืนเงินจำนวน 1,000,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1