โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 26/4, 26/5, 31, 35 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 16, 19, 24, 29 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 6, 7, 19, 40, 41, 42, 54, 55, 58, 62 ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 22,467 บาท และสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งปฏิเสธความรับผิด อ้างว่า จำเลยไม่ได้ทำละเมิด จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (1) (4), 24 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 21,000 บาท คำให้การและข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 14,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยฟัง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย 22,467 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ ยกคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินที่เกิดเหตุ เนื้อที่ 2 งาน 27 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยไผ่ ซึ่งโอนมาจากหมู่ที่ 10 ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นและอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 603 (พ.ศ. 2516) ตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2516 กำหนดให้ป่าดงภูโหล่นเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูโหล่น ในท้องที่ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ และตำบลนาโพธิ์กลาง ตำบลห้วยยาง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2534 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 และวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ตามลำดับ ทั้งมีการปิดประกาศให้ประชาชนทราบแนวเขตแล้ว จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุด้วยการแผ้วถางตัดฟันต้นไม้แล้วทำการปลูกข้าวเต็มพื้นที่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเคยได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยมีข้ออ้างและคำขออย่างเดียวกันมาพร้อมกับฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งไปแล้วสรุปใจความได้ว่า พระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยองค์กรฝ่ายบริหารอันอาศัยอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท ดังนั้น บทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงจึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 212 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ให้ยกคำร้องของจำเลย การที่จำเลยยังคงฎีกาในประเด็นดังกล่าว โดยขอให้ศาลฎีกาส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและรอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาในทำนองว่า ภาพถ่ายดาวเทียมที่ดินที่เกิดเหตุไม่มีผู้เชี่ยวชาญอ่านค่าแปล วิเคราะห์ ตีความร่องรอยการทำประโยชน์ จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุสืบทอดมาจากบรรพบุรุษและเข้าทำประโยชน์มาก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 มีผลใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง รวมทั้งที่ฎีกาว่าจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มและเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น จำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิด นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายนครินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม และนายรุ่งทิตย์ พนักงานพิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่และไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินที่เกิดเหตุเบิกความสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับที่มาของการเข้าตรวจยึดที่ดินที่เกิดเหตุและพบว่าเป็นพื้นที่ที่จำเลยบุกรุกภายหลังวันที่ 17 มิถุนายน 2557 โดยมีภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ปี 2546, 2549, 2556, 2558 และ 2560 รวม 5 ภาพ มาสนับสนุน เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศทั้งห้าภาพแล้วเห็นได้ชัดเจนว่า ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 สภาพที่ดินที่เกิดเหตุยังคงเป็นป่ามีต้นไม้ปกคลุมเต็มพื้นที่ ส่วนภาพถ่ายทางอากาศ ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2558 มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปลักษณะมีการแผ้วถางป่าจนเตียน ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุหลังจากวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป สอดคล้องกับที่จำเลยนำสืบรับว่าจำเลยเข้าไปตัดต้นไม้ทั้งหมดออกจริงและปลูกมันสำปะหลังอย่างจริงจังในปี 2558 ที่จำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2498 นายบุญมี ปู่จำเลยแจ้งการครอบครองที่นาไว้ 16 ไร่ แต่ความจริงแล้วนายบุญมีครอบครองที่ดินมากกว่า 16 ไร่ นายบุญมีได้แบ่งที่ดินให้แก่บิดาจำเลยและบุตรรวม 6 คน คนละ 15 ไร่ ซึ่งรวมแล้วเป็นเนื้อที่ 90 ไร่ จำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินจากบิดา 5 ไร่ เมื่อปี 2540 จำเลยจึงเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่บิดาแบ่งให้และจำเลยได้กันที่ดินที่เกิดเหตุไว้ปลูกเถียงนาและทำข้าวนาหยอด จากนั้นในปี 2546 จำเลยเริ่มไถพรวนที่ดินที่เกิดเหตุเพื่อปลูกมันสำปะหลังก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ขัดแย้งกับจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่มีการแจ้งการครอบครองไว้ทั้งข้อเท็จจริงจากการนำสืบของจำเลยก็ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดิน ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 10 เนื่องจากที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ดังกล่าวทุกด้านจดป่าไม่อาจยืนยันตำแหน่งที่แน่นอนของที่ดินได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยได้รับประโยชน์จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 17 มิถุนายน 2557 นั้น คำสั่งในข้อ 2 ระบุว่า "ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนี้ ข้อ 2.1 การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป" เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวเห็นว่าเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดแนวนโยบายการปฏิบัติงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินเท่านั้น คำสั่งดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายอยู่ไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าทำประโยชน์ก่อนหรือหลังวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ดังนั้น คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 จึงไม่มีผลเป็นการยกเลิกความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยไม่อาจที่จะอ้างคำสั่งดังกล่าวว่าตนได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุมาก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เพื่อลบล้างความผิดของจำเลยได้ นอกจากนี้ การที่จำเลยนำสืบยอมรับว่าตนได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นและอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ทั้งมีการปิดประกาศให้ประชาชนทราบแนวเขตแล้ว โดยในหมู่ที่ 10 ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม ปิดประกาศที่ปิดประกาศผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2517 ย่อมต้องถือว่าประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทราบว่าที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นและอุทยานแห่งชาติผาแต้มแล้ว ทั้งจากการนำสืบของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นและอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เพียงแต่กล่าวอ้างว่าทางราชการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับที่เกิดเหตุ แต่ไม่ปรากฏว่านายบุญมี ปู่ของจำเลย และนายแพง บิดาของจำเลยที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นใช้บังคับในปี 2516 ได้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด เมื่อไม่ได้ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าวก็ต้องถือว่าได้สละสิทธิหรือประโยชน์นั้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกข้ออ้างว่าจำเลยขาดเจตนากระทำความผิดขึ้นมาเพื่อปฏิเสธความผิดของตนได้เช่นกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย และการที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุด้วยการแผ้วถางตัดฟันต้นไม้แล้วทำการปลูกข้าวนั้นย่อมเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชด้วย ซึ่งค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชดใช้มานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ และยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งขณะนั้นจำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว การกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงชอบที่จะต้องนำพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาในส่วนนี้ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ