โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,553,026 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,442,164 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,553,026 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,442,164 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีนายสมศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นสามีของจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนด้วย จำเลยที่ 2 กับนายสมศักดิ์จดทะเบียนหย่ากันเมื่อปี 2559 นายสมศักดิ์เป็นน้องของโจทก์ที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 กับนายสมศักดิ์เป็นสามีภริยากันแล้วได้มาทำงานกับบริษัทของโจทก์ที่ 1 ต่อมาบริษัทของโจทก์ที่ 1 เลิกกิจการ โจทก์ที่ 1 บอกจำเลยที่ 2 และนายสมศักดิ์ให้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้รับคัดเลือกให้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่นจากบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) และจดทะเบียนตั้งห้างจำเลยที่ 1 วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 โจทก์ที่ 1 ซื้อแคชเชียร์เช็คจ่ายแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด เป็นเงิน 1,398,000 บาท เป็นค่าธรรมเนียมการทำสัญญา เงินประกันความเสียหายและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในการที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญากับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาบริหารงานร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์กับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิให้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่นอีก 1 สาขา จากบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 โจทก์ที่ 2 และที่ 1 ซื้อแคชเชียร์เช็คจ่ายแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 100,000 บาท และ 4,501,200 บาท ตามลำดับ เป็นค่ามัดจำการสมัครเป็นผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและค่าธรรมเนียมการทำสัญญาของจำเลยที่ 2 และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาบริหารงานร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์กับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสองบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะได้เข้าทำสัญญาบริหารงานร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์กับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 จะได้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เช่นนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนในการชำระเงินของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่าโจทก์ทั้งสองได้ซื้อแคชเชียร์เช็คจ่ายแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมีใบเสร็จรับเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่าเช็คจำนวนเงิน 1,398,000 บาท จ่ายให้แก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 เอกสารการซื้อแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 1 เป็นผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 100,000 บาท และ 4,501,200 บาท จ่ายให้แก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหลักฐานสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แทนจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 เบิกความว่า หลังจากบริษัทของโจทก์ที่ 1 เลิกกิจการ โจทก์ที่ 1 สอบถามจำเลยที่ 2 กับนายสมศักดิ์ว่าจะทำอะไรเลี้ยงครอบครัว จำเลยที่ 2 จึงมีความคิดจะทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โจทก์ที่ 1 จึงบอกว่าจะให้เงินลงทุนเพื่อทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่นร้านที่ 1 และมอบเช็คจำนวนเงิน 1,398,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาได้รับสิทธิให้ทำร้านที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงบอกโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่นร้านที่ 2 โดยบอกว่าเงินลงทุน 4,501,200 บาท เป็นของบุตร ส่วนเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้มอบให้เป็นเงินลงทุนหาเลี้ยงครอบครัว จำเลยที่ 2 จึงรับแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไปทำสัญญากับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แต่ตามแคชเชียร์เช็คเป็นกรณีที่สั่งจ่ายแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เบิกความว่าเป็นการยืมเงินจากโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด แต่กลับเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองให้ความช่วยเหลือจำเลยทั้งสองในการชำระเงินแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แทนจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญากับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แล้ว และจำเลยทั้งสองคืนเงินบางส่วน โจทก์ทั้งสองย่อมเรียกเงินที่ชำระไปแทนในส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาตัวแทนได้ แม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 กรณีมิใช่การกู้ยืมจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองรับว่ากู้ยืมหรือไม่ หรือการกู้ยืมมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย การที่ศาลล่างทั้งสองนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลล่างทั้งสองปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายไม่ถูกต้อง แต่การปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเป็นหน้าที่ของศาล ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นปรับให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองคืนเงินแก่โจทก์ทั้งสองบางส่วน ยังมิได้คืนเงิน 1,442,164 บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยทั้งสองยังมิได้คืนเงิน 1,442,164 บาท และโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาเป็นพับ