คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย และเรียกนาย ด. ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ว่าจำเลยร่วม
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 55/2557 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 และคำสั่งของจำเลยที่ 64/2557 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้นาย ด. เข้ามาในคดีโดยให้เรียกว่าจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
จำเลยร่วมให้การด้วยวาจาปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกประการ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมเป็นลูกจ้างของโจทก์โดยเข้าทำงานกับโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 93,545 บาท จำเลยร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบโจทก์ว่าด้วย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ.2552 ข้อ 22 (1) (2) และ (3) ซึ่งมีโทษทางวินัยเพียง 5 ประเภท ตามข้อ 23 คือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก พักงาน และตักเตือนเป็นหนังสือ แต่โจทก์กลับลงโทษจำเลยร่วมตามระเบียบโจทก์ว่าด้วยการเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ ค่าชดเชย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2543 ข้อ 8 ซึ่งระบุถึงโทษทางวินัยมี 6 ประเภท คือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก ตัดเงินเดือน พักงาน และภาคทัณฑ์ ซึ่งโทษดังกล่าวใช้สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิดวินัยเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 โจทก์มีหนังสือลงโทษตัดเงินเดือนจำเลยร่วม 10 เปอร์เซ็นต์ มีกำหนด 1 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นเงิน 9,355 บาท ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2557 โจทก์มีหนังสือแจ้งลงโทษตัดเงินเดือนจำเลยร่วมเพิ่ม โดยให้เพิ่มโทษเป็นลงโทษตัดเงินเดือน 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นโจทก์จึงตัดเงินเดือนจำเลยร่วมในเดือนสิงหาคม 2557 เป็นเงิน 14,032 บาท วันที่ 8 กันยายน 2557 โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วม โจทก์ตัดเงินเดือนจำเลยร่วมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อีก 23,386 บาท จำเลยร่วมจึงได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ 55/2557 และที่ 64/2557 ให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างสำหรับการทำงานของจำเลยร่วมในวันที่ 1 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นเงิน 9,355 บาท ค่าจ้างสำหรับการทำงานในวันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2557 เป็นเงิน 14,032 บาท และค่าจ้างสำหรับการทำงานในวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2557 เป็นเงิน 23,386 บาท เนื่องจากการลงโทษดังกล่าวไม่เหมาะสมกับความผิด ตามระเบียบโจทก์ว่าด้วยการเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ ค่าชดเชย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2543 ข้อ 9 เพราะจำเลยร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โทษที่จะลงได้คือ ไล่ออก ปลดออก และให้ออกเท่านั้น คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์เอง และการที่โจทก์หักค่าจ้างหรือตัดเงินเดือนของจำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมไม่ได้ยินยอมด้วยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 77 ทั้งมิใช่กรณีที่นายจ้างหักค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยร่วมได้
คดีมีปัญหาตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ระเบียบโจทก์ว่าด้วย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ.2552 มิได้ระบุโทษตัดเงินเดือนเอาไว้ แต่ระเบียบว่าด้วยการเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ ค่าชดเชย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2543 ข้อ 8 ระบุโทษ ตัดเงินเดือน เอาไว้ มิใช่กรณีขัดหรือแย้งกันของระเบียบทั้งสองตามความในข้อ 3 และข้อ 42 (3) ของระเบียบโจทก์ว่าด้วย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ.2552 แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่ระเบียบโจทก์ว่าด้วย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ.2552 ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาการบริหารจัดการภายในองค์กรโจทก์ทั้งหมดโจทก์จึงอาศัยอำนาจตามข้อ 42 (2) นำโทษ ตัดเงินเดือน ที่ระบุไว้ในระเบียบโจทก์ว่าด้วยการเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2 พ.ศ.2543 ที่เป็นคุณแก่พนักงานมากกว่ามาบังคับใช้ได้ เห็นว่า ตามหนังสือเรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน โจทก์ระบุว่าการกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ว่าด้วยข้อบังคับการทำงาน พ.ศ.2552 ข้อ 22 (1) (2) (3) เมื่อโจทก์ระบุว่าจำเลยร่วมกระทำผิดตามข้อบังคับการทำงานดังกล่าว การลงโทษจำเลยร่วมจึงต้องใช้ข้อบังคับการทำงานอันเดียวกันซึ่งมีระบุถึงเรื่องโทษทางวินัยไว้แล้วมาบังคับแก่จำเลยร่วมตามข้อ 23 ซึ่งกำหนดโทษไว้ 5 ประเภท คือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก พักงาน และตักเตือนเป็นหนังสือ โจทก์จะนำโทษตัดเงินเดือน ตามระเบียบว่าด้วยการเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ ค่าชดเชย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2543 ข้อ 8.4 ซึ่งระบุให้ใช้ในกรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิดวินัยมาใช้หาได้ไม่ เนื่องจากเป็นการลงโทษโดยนำระเบียบฉบับอื่นมาใช้ ทั้งระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ.2552 ข้อ 42 (3) ระบุว่า กฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับใดขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอนุโลมนำระเบียบฉบับอื่นมาใช้บังคับแก่กันได้ หากให้โจทก์เลือกปฏิบัติเช่นนี้ได้จะเป็นผลเสียต่อความเป็นธรรมในการลงโทษผู้กระทำความผิดวินัยเพราะโจทก์สามารถหลบเลี่ยงหรือเลือกปฏิบัติในการลงโทษพนักงานคนใดตามความประสงค์ของโจทก์โดยการนำโทษเบามาลงกับการกระทำความผิดร้ายแรงได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจตัดเงินเดือนของจำเลยร่วม ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ตัดไปคืนให้จำเลยร่วมตามคำสั่งของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่าคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่อาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปได้
พิพากษายืน