โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าสิทธิประโยชน์อันเกิดจากการทำงานให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 2,159,750 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 415,624.75 บาท และจำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 90,373.39 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,665,748.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า ...เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ตกลงรับเงินผลประโยชน์พิเศษจากจำเลยทั้งสามรวมเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท และจะไม่เรียกร้องเงินค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่มีอยู่ในหรือก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2544 จากจำเลยทั้งสามด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่านายหน้าจากจำเลยทั้งสามได้อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าหนังสือฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 ตามเอกสารหมาย ล.7 นายโวลฟ์ นิโคไล เอ็นซิอาน ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่าการที่ศาลแรงงานกลางตีความหมายของหนังสือเอกสารหมาย ล.7 ว่า มีความหมายด้วยว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหรือก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2544 จากจำเลยที่ 3 ซึ่งหมายรวมถึงค่าตอบแทนการขายหรือค่าคอมมิชชั่นหรือค่านายหน้าด้วยนั้น ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยเองโดยจำเลยทั้งสามไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ทั้งศาลแรงงานกลางได้ตีความไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าสิทธิประโยชน์อันเกิดจากการทำงานของโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การว่า ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสาม โจทก์ได้รับค่าจ้างตอบแทนรายเดือนครบถ้วนแล้ว ภายหลังโจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงาน โจทก์ตกลงรับเงินผลประโยชน์พิเศษจากจำเลยทั้งสามจำนวน 500,000 บาท และตกลงว่าจะไม่เรียกร้องเงินค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่มีอยู่ในวันหรือก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2544 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างหรือเงินสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ 1 และปรากฏว่าเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ก็คือเอกสารหมาย ล.7 พร้อมคำแปล ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคำพยานโจทก์ พยานจำเลยทั้งสาม และคำแถลงรับข้อเท็จจริงของโจทก์และจำเลยทั้งสามแล้วแปลความตามเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหรือก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2544 จากจำเลยทั้งสาม ว่าความหมายรวมถึงค่าตอบแทนการขายหรือค่าคอมมิชชั่นหรือค่านายหน้าด้วย การวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยตามคำฟ้อง คำให้การ คำแถลงรับและพยานหลักฐานโจทก์จำเลยตามประเด็นข้อพิพาทในคดีแล้ว มิใช่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นเองโดยจำเลยทั้งสามไม่ได้ยกเป็นข้อต่อสู้ดังอุทธรณ์ของโจทก์ ทั้งเอกสารหมาย ล.7 พร้อมคำแปลก็ระบุว่า โจทก์ลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 โดยจำเลยทั้งสามจ่ายเงินผลประโยชน์พิเศษให้จำนวน 500,000 บาท และมีข้อความตอนท้ายว่าโจทก์ไม่มีข้อเรียกร้องใด ๆ ที่เกิดขึ้นในวันที่หรือก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2544 ต่อจำเลยทั้งสาม ซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านว่าคำแปลดังกล่าวไม่ถูกต้อง ศาลแรงงานกลางแปลความดังกล่าวต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการที่สองมีว่า ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.7 ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย ล.7 มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยทั้งสามตามข้อตกลงดังกล่าวโดยลงลายมือชื่อตกลงและยอมรับภายหลังจากที่โจทก์แสดงความประสงค์จะลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของตนเองได้ ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.7 จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะดังอุทธรณ์ของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน