โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 336, 358
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางศิริรัตน์ ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ส่วนข้อหาทำให้เสียทรัพย์โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 358 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 336 วรรคแรก อีกบทหนึ่ง และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 357 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานวิ่งราวทรัพย์ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ฐานรับของโจร จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 เดือน ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 คงลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 และนายชาญชัย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นบุตรจำเลยที่ 2 และผู้เสียหายที่ 2 เป็นสามีโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันเกี่ยวกับเรื่องที่ดินมรดกและมีคดีฟ้องร้องกันหลายคดีมาก่อน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ด่าทอและทะเลาะกันเรื่องที่สุนัขของโจทก์ร่วมหลายตัวหลุดออกจากบ้านของโจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 เกรงว่าสุนัขของโจทก์ร่วมจะมากัดไก่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงโทรศัพท์ตามจำเลยที่ 1 มายังที่เกิดเหตุ ต่อมามีการทำร้ายร่างกายกันระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฟกช้ำที่หน้าผากซ้าย ขนาด 1 x 1 เซนติเมตร บาดแผลฟกช้ำที่ด้านหลังขวา ขนาด 5 x 5 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่าใช้เวลารักษาบาดแผลประมาณ 7 วัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติและรับฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคหนึ่ง และฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 กับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ก็ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ด้วยเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วม นางพิมล และนายชลกรเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันตรงกันว่า จำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบฟันโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 2 เครื่อง โดยได้ความจากจำเลยทั้งสองว่า ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับนางพิมลและนายชลกร พยานทั้งสองปากจึงไม่มีส่วนได้เสียในคดีและเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะนายชลกรเป็นผู้ถ่ายรูปโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ที่ได้รับความเสียหายในที่เกิดเหตุ ซึ่งพันตำรวจโทปรีชา พนักงานสอบสวนเบิกความว่า เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ โจทก์ร่วมได้นำภาพถ่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ที่ได้รับความเสียหายให้พยานไว้เป็นหลักฐาน และยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า โจทก์ร่วมนำซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เสียหายมาให้ด้วย แต่พยานได้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมไปเนื่องจากเชื่อว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวปรากฏตามภาพถ่ายที่โจทก์ร่วมได้นำมามอบให้ อันแสดงให้เห็นว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 2 เครื่อง ได้รับความเสียหายจริง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนพยานที่จำเลยที่ 2 นำสืบ คงมีเพียงจำเลยทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า หลังเหตุการณ์สงบ ไม่มีผู้ใดพูดถึงเรื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่ามีการแตกเสียหาย ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดดาบฟันโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ได้รับความเสียหายจริงตามฟ้อง แต่เมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เสียหายเป็นของผู้เสียหายที่ 2 สามีของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 2 ทั้งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ติดใจเรียกร้องขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว กรณีจึงเห็นสมควรลงโทษจำคุกแต่ให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพื่อให้หลาบจำเห็นควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันแต่มีสาเหตุโกรธเคืองกันจากปัญหาที่ดินมรดก เหตุคดีนี้เริ่มจากสุนัขของโจทก์ร่วมหลุด และจำเลยที่ 2 เกรงว่าสุนัขจะไปกัดไก่ ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยและให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 เดือน โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกในความผิดฐานนี้เกินกว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 แม้จำเลยทั้งสองไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท และลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6