ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบแร่หินทราย น้ำหนัก 60,530 กิโลกรัม รถบรรทุกลากจูง และรถพ่วง ของกลาง ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 174
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ริบแร่หินทราย น้ำหนัก 60,530 กิโลกรัม รถบรรทุกลากจูง และรถพ่วง ของกลาง ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 174
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานร่วมกันตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงขนหิน จำนวน 22 คัน ได้ที่บริเวณถนนสายอุบลราชธานี – เขมราฐ และถนนสายเขมราฐ – ปากแซง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นของกลาง จากนั้นทำการตรวจสอบปริมาตรบรรทุกและน้ำหนักบรรทุกของรถแต่ละคัน ปรากฏว่ามีน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยมีนายพิเชษฐเป็นคนขับรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วง พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่นายพิเชษฐในความผิดฐานใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินกำหนดเดินบนทางหลวงแผ่นดินโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษนายพิเชษฐและคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6042/2558 ของศาลชั้นต้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีได้ตรวจสอบหินดังกล่าว ผลปรากฏว่าเป็นหินอุตสาหกรรมชนิดแร่หินทราย น้ำหนัก 60,530 กิโลกรัม และคาดว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงแจ้งความดำเนินคดีแก่นายพิเชษฐในความผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต่อมาผู้ร้องมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีแก่นายพิเชษฐเนื่องจากคดีขาดอายุความ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเขมราฐได้ส่งมอบแร่หินทรายกับรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีไปเก็บรักษา สำหรับรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีทำสัญญาฝากรักษาของกลางไว้กับผู้คัดค้านกำหนดระยะเวลาปีต่อปี ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอริบแร่ รถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางเป็นคดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเฉพาะรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ส่วนแร่หินทรายของกลางไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบแร่หินทราย รถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ในส่วนของแร่หินทรายที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบ ไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ คดีในส่วนนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อแรกว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินของกลางหรือไม่ เห็นว่า ขณะนายพิเชษฐกระทำความผิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 นั้น อยู่ในระหว่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ใช้บังคับ ต่อมามีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้บังคับ ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าว มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และให้ใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 แทน แต่เนื่องจากบทบัญญัติในเรื่องการริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทำความผิดนั้นตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่กับกฎหมายเดิมไม่แตกต่างกัน ต้องปรับบทตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่คดี จึงต้องปรับบทตามมาตรา 154 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 174 มานั้น จึงไม่ถูกต้อง การปรับบทกฎหมายเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องมีคำสั่งไม่ฟ้องนายพิเชษฐในความผิดฐานขนแร่หินทรายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเนื่องจากคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจที่จะยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไว้อีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินของกลาง นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 154 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า "บรรดาแร่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 132 ทวิ... มาตรา 148 ... ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" โดยมาตรา 148 เป็นบทลงโทษในความผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เมื่อคดีได้ความว่า นายพิเชษฐขับรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางขนแร่หินทรายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กรณีจึงถือได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องฟังว่ารถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันเป็นทรัพย์ที่ต้องริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ตามมาตรา 154 วรรคหนึ่ง ข้างต้น เนื่องจากเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินโดยมิพักต้องคำนึงว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ จึงไม่จำต้องมีการฟ้องร้องหรือขอให้ลงโทษผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดมาด้วย และมีความหมายรวมตลอดไปถึงกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาอันเนื่องมาจากคดีขาดอายุความซึ่งมีผลในทำนองเดียวกันคือไม่มีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วย ดังนั้น การที่ผู้ร้องมีคำสั่งไม่ฟ้องนายพิเชษฐนั้น จึงหาได้กระทบถึงสิทธิการร้องขอให้ริบทรัพย์สินของกลางของผู้ร้องดังที่ผู้คัดค้านฎีกาไม่ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องในคดีนี้ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อต่อไปว่า มีเหตุที่ศาลจะสั่งคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดหรือจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ผู้คัดค้านนำสืบได้ความเพียงว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ขณะเกิดเหตุได้ให้นายอดุลย์ เช่าช่วงรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปประกอบธุรกิจโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วง ซึ่งเป็นหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วง จำนวน 22 คัน นายพิเชษฐให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกของกลางว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ซึ่งประกอบด้วยบุคคล 6 คน หนึ่งในนั้นมีผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้างนายพิเชษฐขับรถขนหิน โดยได้ค่าขนหินเที่ยวละ 500 บาท ตามบันทึกการตรวจยึด/กล่าวโทษ สอดคล้องกับสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ซึ่งระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่งและมีผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของห้างในช่องผู้ประกอบการขนส่ง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองรถและเป็นผู้ว่าจ้างนายพิเชษฐขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านย่อมมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่านายพิเชษฐจะกระทำความผิดและจะนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม เมื่อรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ริบรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบแร่หินทราย น้ำหนัก 60,530 กิโลกรัม รถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154