โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) (ที่ถูก (เดิม แก้ไขปี 2550)) และมาตรา 277 วรรคสาม (ที่ถูก ที่แก้ไขใหม่ปี 2558) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 50 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 7 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เด็กหญิง พ. ผู้เสียหาย เป็นบุตรนาย ธ. กับนางสาว อ. นาย ธ. เป็นบุตรนาง ส. จำเลยเป็นสามีใหม่นาง ส. ซึ่งพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านของนาง ส. วันที่ 12 มีนาคม 2561 นางสาว อ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยโดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหลายครั้งที่บ้านของนาง ส. ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2561 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยตามหมายจับนำส่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยตามฟ้อง ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการที่ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุเจาะจงวันที่และเดือนที่จำเลยกระทำผิด ทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 มิได้บังคับให้ฟ้องต้องบรรยายระบุเจาะจงวันที่และเดือนซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือรายละเอียด กฎหมายบัญญัติเพียงให้โจทก์กล่าวมาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุเวลาการกระทำผิดของจำเลยว่าประมาณปีใด โดยฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดถึงวันที่และเดือนที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่เกี่ยวกับเวลาเท่าที่จะบรรยายได้ มิได้ประสงค์เอาเปรียบในเชิงคดี การที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยรายละเอียดจะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นพิจารณาต่อไป แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์ได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงใช้กฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำผิดบังคับแก่จำเลยตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา
พิพากษายืน