โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้าง 16,893 บาท ค่าชดเชย 48,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้าง 16,893 บาท ค่าชดเชย 48,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการส่งออก จำหน่ายอัญมณี จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการผลิต ส่งออก ขายส่ง ขายปลีกเครื่องประดับ นายบัวลาเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งช่างเจียระไน ค่าจ้างอัตราเดือนละ 22,000 บาท ค่าผลิตงานเพิ่ม งานฝังไร้หนาม 24,000 บาท ต่อเดือน และงานฝังทั่วไป 18,000 บาท ต่อเดือน แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานช่างฝังเพชรพลอย สถานที่ทำงานคือสถานที่ตั้งบริษัทจำเลยทั้งสอง โจทก์รับมอบงานและเงินเดือนจากนายบัวลา โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยทั้งสอง นายบัวลาเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 นายบัวลาได้รับอนุญาตให้พาโจทก์กับพวกเข้าไปทำงานที่บริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่เข้าทำงานผลิตชิ้นงานฝังเพชรพลอยทั่วไปซึ่งเป็นงานหลักของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จึงมิใช่นายจ้างของโจทก์ และเมื่อมาตรา 11/1 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะโจทก์ไม่ยินยอมลงชื่อในสัญญาการทำงาน เนื่องจากนายบัวลาปรับลดค่าจ้างโจทก์ และจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ไว้ชัดเจน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 อนุญาตให้นายบัวลาพาโจทก์มาทำงาน ณ สถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ฝังเพชรพลอย โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตเครื่องประดับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นงานหลักของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นนายจ้างโจทก์โดยตรงก็ตาม แต่ตามกฎหมายดังกล่าวให้ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างโจทก์ด้วย และเมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นนายจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โดยไม่ได้ให้การต่อสู้โดยชัดแจ้งว่า ค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องไม่ถูกต้องอย่างไร คดีนี้จึงไม่มีประเด็นดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามกฎหมาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า โจทก์เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายบัวลาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งช่างเจียระไน โดยมีข้อเสนอนอกเหนือจากงานในตำแหน่งช่างเจียระไนว่าจำเลยที่ 1 เสนอให้นายบัวลารับผลิตงานเพิ่มเติมตามสัญญาการทำงาน ข้อ 2 แต่การรับผลิตงานเพิ่มเติมดังกล่าวจะถือว่าเป็นการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างมอบงานผลิตเพิ่มเติมให้นายบัวลาในฐานะลูกจ้างทำงานเพิ่มเติมนั้นด้วยตนเองอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เสนองานผลิตเพิ่มเติม คือ งานฝังเพชรพลอย ให้แก่นายบัวลาโดยนายบัวลามิได้รับงานผลิตเพิ่มเติมนั้นไปทำด้วยตนเอง แต่นำงานผลิตเพิ่มเติมที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไปจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างให้ทำงานเป็นช่างฝังเพชรพลอย และให้โจทก์ทำงานที่สถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 กับใช้อุปกรณ์ที่อยู่ในที่ทำงานของจำเลยที่ 1 เพื่อทำงานฝังเพชรพลอย โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับงานที่โจทก์รับจากนายบัวลาและไม่ได้โต้แย้ง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เสนองานเพิ่มเติมให้แก่นายบัวลาโดยรู้อยู่แล้วว่านายบัวลาไม่ได้รับผลิตงานเพิ่มเติมไปทำด้วยตนเอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มอบงานฝังเพชรพลอยให้แก่นายบัวลาในคดีนี้จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างเสนอให้นายบัวลาในฐานะลูกจ้างรับผลิตงานเพิ่มเติมตามสัญญาการทำงาน ข้อ 2 แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการได้มอบหมายให้นายบัวลาเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 อันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน เมื่อการทำงานของโจทก์คืองานฝังเพชรพลอยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 โดยมีนายบัวลาเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่เป็นคนมาทำงาน จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง และมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในส่วนที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้คิดดอกเบี้ยของค่าจ้างนับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 อันเป็นวันที่นายบัวลา นายจ้างเลิกจ้างโจทก์นั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 70 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง ดังนั้น เมื่อนายบัวลาเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นายบัวลาจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2563 นายบัวลาไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาดังกล่าวจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป และเมื่อจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไปแก่โจทก์เช่นเดียวกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงสามารถหยิบยกแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยของค่าจ้างนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ