โจทก์ฟ้องว่า นายทาและนางแปน โพธิ์ศรี แต่งงานกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ไม่มีบุตรด้วยกัน ระหว่างอยู่กินกันมีทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้เป็นที่ดิน ๓ แปลงคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ และเลขที่ ๒๔๙๖ และที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ ก่อนแต่งงานนายทาไม่มีสินเดิม ส่วนนางแปนมีสินเดิม นางแปนมีพี่อีก ๒ คน คือนายสุนีหรือนี กับนางแพง แต่ถึงแก่กรรมก่อนนางแปนแล้วทั้งสองคน โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เป็นบุตรของนายสุนี โจทก์ที่ ๓ เป็นบุตรของนางแพง นายทาถึงแก่กรรมวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๘ ส่วนนางแปนถึงแก่กรรมวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นน้องชายของนายทา เป็นผู้จัดการมรดกของนายทา เมื่อนายทาถึงแก่กรรมก่อนนางแปน สินสมรสของนายทาครึ่งหนึ่งย่อมตกได้แก่นางแปน เมื่อรวมกับสินสมรสส่วนของนางแปนแล้วเป็นทรัพย์มรดกของนางแปน ๒ ใน ๓ ส่วน ย่อมตกทอดแก่ทายาทคือโจทก์ทั้งสาม ส่วนที่เหลืออีก ๑ ใน ๓ ส่วนจึงตกแก่จำเลยที่ ๑ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทากลับขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ให้จำเลยที่ ๒ และขายที่ดินตาม น.ส.๓ ก. ให้จำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ ขายต่อให้จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยทั้งสามทราบดีว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินจำนวนเนื้อที่ ๒ ใน ๓ ส่วน ตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ และโฉนดเลขที่๒๔๙๖ กับที่ดินจำนวนเนื้อที่ ๒ ใน ๓ ส่วน ตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ เป็นมรดกของนางแปนโพธิ์ศรี ซึ่งตกแก่โจทก์ทั้งสาม และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะนายทาและนางแปนถึงแก่กรรมเกิน ๑ ปีแล้ว จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทาได้แบ่งที่ดินตามโฉนดเลขที่๒๙๓๒ จำนวน ๑๐ ไร่ ให้นางตุ๊ ต่อมานางตุ๊โอนให้จำเลยที่ ๒ โดยเรียกค่าตอบแทน และจำเลยที่ ๑ขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวอีก ๖ ไร่ ให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงรับโอนที่ดินแปลงนี้เป็นเนื้อที่๑๖ ไร่ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ ๒ รับโอนที่ดินตาม น.ส.๓ ก.เลขที่ ๑๓๙๐ มาจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยที่ ๓โดยจำเลยที่ ๓ เสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต นายทามีสินเดิม ส่วนนางแปนไม่มีทรัพย์สินใด ๆ หากฟังว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นสินสมรสจะต้องแบ่งให้กับนายทาก่อน ๒ ใน ๓ ส่วน อีก ๑ ส่วน จึงตกแก่นางแปน จำเลยที่ ๑ ในฐานะทายาทของนายทาและผู้จัดการมรดกโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ยังไม่เกินส่วนที่จำเลยที่ ๑ จะได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีมรดกเมื่อเกิน ๑ ปีแล้ว จึงขาดอายุความมรดก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒, ๒๔๙๖ และที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ จำนวน ๒ ใน ๓ ส่วน เป็นมรดกของนางแปนตกแก่โจทก์ทั้งสามให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน แล้วให้จำเลยที่ ๑ จัดการโอนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว จำนวน ๒ ใน๓ ส่วน แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ ๓ ได้ถึงแก่กรรม ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้นายสมบูรณ์ โพธิ์ศรี เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า นายทามีสินเดิมมาก่อนสมรส การแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยไว้ เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยที่ ๒ นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าขณะนายทาได้นางแปนเป็นภริยานายทามีสินเดิม ดังนั้น การแบ่งสินสมรสระหว่างนายทาและนางแปนในกรณีที่นายทาถึงแก่กรรมต้องแบ่งกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยคำนวณอย่างต่างฝ่ายต่างไม่มีสินเดิม นายทาได้ ๒ ส่วน นางแปนได้ ๑ ส่วน ดังศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ส่วนหนึ่งจำนวน ๑๐ ไร่ ไม่ใช่ทรัพย์ในกองมรดกของนายทาและนางแปน เพราะนายทาและนางแปนได้ยกให้นางตุ๊ก่อนที่นายทาและนางแปนถึงแก่กรรม นางตุ๊ได้แสดงเจตนารับเอาและเข้าครอบครองทำกินจนได้สิทธิครอบครองปรปักษ์แล้ว และนางตุ๊ได้ขายให้จำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งสามจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ เห็นว่าจำเลยที่ ๒ กล่าวอ้างว่านางตุ๊เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วนจำนวน๑๐ ไร่ ซึ่งนายทาและนางแปนยกให้ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าการยกให้ดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สมบูรณ์ ที่ดินดังกล่าวยังเป็นสินสมรสระหว่างนายทาและนางแปนที่จะต้องแบ่งกันตามส่วนในกรณีที่นายทาถึงแก่กรรม สำหรับปัญหาการครอบครองปรปักษ์นั้น มิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ส่วนจำเลยที่ ๓ได้ซื้อที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ จากจำเลยที่ ๒ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งได้มีการจดทะเบียนการซื้อขายแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว เห็นว่าสินสมรสในส่วนของนางแปน ๑ ส่วนนั้น แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้จัดการมรดกของนายทาก็ไม่มีสิทธิที่จะจัดการจำหน่ายจ่ายโอนได้เพราะมิใช่มรดกของนายทา การที่จำเลยที่ ๑ โอนทรัพย์สินส่วนนี้ของนางแปนให้แก่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ โอนให้จำเลยที่ ๓ ต่อมาจึงไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่
สำหรับสินสมรสส่วนของนายทา ๒ ส่วนนั้น เป็นมรดกของนายทา ซึ่งนางแปนภริยาของนายทากับจำเลยที่ ๑ น้องของนายทามีสิทธิได้รับคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๓๕ (๒) จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทามีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกของนายทาโดยทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๔ การขายทรัพย์มรดกเป็นเรื่องอยู่ภายในขอบอำนาจของผู้จัดการมรดกอย่างหนึ่งดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๖และมาตรา ๑๗๔๐ บัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ถ้าผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สุจริตหรือโดยสมยอมกัน ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗
ในกรณีของจำเลยที่ ๓ ผู้รับโอนที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ จากจำเลยที่ ๒นั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ได้สมรู้หรือคบคิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หรือรับโอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งเป็นการรับโอนโดยมีค่าตอบแทน แม้การโอนก่อนหน้านี้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ จะไม่สุจริต ก็ไม่อาจเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ในส่วนที่เป็นมรดกของนายทาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๘ คงต้องเพิกถอนเฉพาะการโอนในส่วนที่เป็นสินสมรสส่วนของนางแปน ๑ ส่วนเท่านั้น
ส่วนจำเลยที่ ๒ ผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ นั้น จำเลยที่ ๒ ทราบว่ายังมีผู้อื่นนอกจากจำเลยที่ ๑ ที่มีสิทธิรับมรดกของนายทา ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๒ รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒จากจำเลยที่ ๑ โดยทราบว่าจำเลยที่ ๑ ยังมิได้จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้โอนในฐานะผู้จัดการมรดกมีส่วนได้ทรัพย์มรดกรายนี้ในฐานะทายาทด้วยครึ่งหนึ่ง จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะในส่วนที่เกินสิทธิของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ ๒ รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ไม่เต็มทั้งแปลง โดยรับโอนเพียง ๑๖ ไร่เศษ ในจำนวน ๒๒ ไร่เศษ กล่าวคือ ต้องเพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนที่เกิน ๑ ใน ๓ ส่วน ของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ และเมื่อนำส่วนที่เพิกถอนไปรวมกับส่วนที่จำเลยที่ ๑ รับโอนไว้เองจำนวน ๖ ไร่แล้ว ได้จำนวน ๒ ใน๓ ส่วน ครบจำนวนตามสิทธิของโจทก์ทั้งสาม
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทรัพย์มาจากกองมรดกของนายทาและนางแปน จำเลยที่ ๒ ย่อมใช้สิทธิของกองมรดกยกเอาอายุความ ๑ ปี ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ นั้น เห็นว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกมาจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของผู้จัดการมรดก ยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๕๕ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสินสมรสส่วนของนางแปน ๑ ส่วนนั้น ดังวินิจฉัยมาแล้วว่าไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายทา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่อาจอ้างอายุความมรดกมาตัดสิทธินางแปนเจ้าของหรือโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของเจ้าของในการติดตามเอาทรัพย์สินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ เกี่ยวกับสินสมรสส่วนของนายทา ๒ ส่วน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายทานั้น การที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทจำเลยที่ ๑ จะยกอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้ ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยกอายุความมรดก ๑ ปี ขึ้นตัดฟ้องโจทก์ จึงรับฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เฉพาะส่วนที่เกิน ๑ ใน ๓ ส่วน ของที่ดิน และเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เพียง ๑ ใน ๓ ส่วน ของที่ดิน แล้วให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒และ น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ ยกเว้นส่วนที่เป็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งมิได้ถูกเพิกถอนดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ให้จำเลยที่ ๑ โอนให้โจทก์ทั้งสาม ๒ ใน ๓ ส่วนตามสิทธิของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๙๖ จำนวน ๒ ใน ๓ ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑