โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ไถ่ถอนทรัพย์จำนองเป็นเงิน 2,907,051.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,490,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1 และที่ 171 (ปัจจุบันคือโฉนดที่ดินเลขที่ 39799) เลขที่ 963 จังหวัดเพชรบูรณ์ และเลขที่ 1710 (ปัจจุบันคือโฉนดที่ดินเลขที่ 47366) จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระโจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 จำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนายจีระศักดิ์ จำเลยที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของนางเนียน จำเลยที่ 4 เป็นทายาทโดยธรรมของนางเป้า เดิมธนาคาร ศ. ยื่นฟ้องนายจีระศักดิ์ นายตุ๊ นางเป้า จำเลยที่ 1 นางเนียน และนางทองดี ต่อศาลชั้นต้น เรื่อง ยืม ค้ำประกัน จำนองเป็นคดีหมายเลขดำที่ 136/2536 ระหว่างพิจารณานายจีระศักดิ์ถึงแก่ความตาย ต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันใจความว่า ฝ่ายจำเลยในคดีดังกล่าวตกลงชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ศ. เป็นงวด หากผิดนัดยินยอมให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1710 จังหวัดเพชรบูรณ์ เลขที่ 1 เลขที่ 34 เลขที่ 171 เลขที่ 945 และเลขที่ 963 จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ศ. ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 403/2536 แต่จำเลยทั้งหกในคดีดังกล่าวไม่ชำระหนี้ ธนาคาร ศ. จึงนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองข้างต้น โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 34 และเลขที่ 945 แล้ว ต่อมานางเป้าและนางเนียนถึงแก่ความตาย วันที่ 29 มิถุนายน 2544 ธนาคาร ศ. โอนสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. จากนั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โอนกิจการให้แก่โจทก์ วันที่ 7 ธันวาคม 2548 โจทก์ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ซึ่งเป็นผู้สวมสิทธิแทนธนาคาร ศ. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ทวิ (เดิม) เนื่องจากโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด วันที่ 16 ตุลาคม 2558 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีพ้น 10 ปี จึงให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ธนาคาร ศ. ฟ้องบังคับในส่วนของภาระหนี้ตามสัญญากู้ และหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ไม่ไถ่ถอนทรัพย์จำนอง แม้โจทก์จะมิได้บังคับคดีภายใน 10 ปี ซึ่งทำให้สิทธิการบังคับคดีในหนี้ประธานตามคำพิพากษาขาดอายุความ แต่สิทธิในการจำนองยังไม่ระงับ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ ประกอบกับจำเลยทั้งสี่ให้การรับว่ามีหนี้แต่ไม่ชำระหนี้ จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อบังคับแก่ทรัพย์จำนอง คำขอท้ายฟ้องก็ระบุชัดเจน ทั้งมิได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นฐานในการคำนวณแต่คำนวณจากวงเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง และเป็นข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันขาดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า คดีก่อนธนาคาร ศ. เป็นโจทก์ฟ้องนายธีระศักดิ์ กับพวกรวม 6 คน ให้รับผิดเรื่อง ยืม ค้ำประกัน จำนอง แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความว่า จำเลยทั้งหกตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้บังคับคดียึดที่ดินทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม กรณีถือได้ว่าประเด็นแห่งคดีได้รับการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยคำพิพากษาตามยอมนั้น การที่จำเลยทั้งหกในคดีดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้นเป็นเรื่องที่ธนาคาร ศ. รวมถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนชอบที่จะต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีในคดีเดิม ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคาร ศ. อีกทอดหนึ่ง ประสงค์ที่จะบังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ เพียงใด คำฟ้องของโจทก์กรณีนี้หาใช่เป็นคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาแต่อย่างใดไม่ เมื่อความปรากฏว่าทรัพย์จำนองในคดีก่อนและคดีนี้เป็นทรัพย์จำนองรายเดียวกัน และโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนี้มาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ซึ่งรับโอนมาจากธนาคาร ศ. โจทก์เดิมอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันในคดีก่อนซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ