โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้จำนำ 15,000 บาท จากโจทก์ และให้จำเลยคืนรถยนต์ ในสภาพเดิมแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาแทน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนถึงวันที่จำเลยคืนรถยนต์ในสภาพเดิมแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบเอกสารทางทะเบียนรถยนต์ กับชำระค่าเสียหายแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งจำเลยเนื่องจากไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระเงินต้นและดอกเบี้ยค่าไถ่ถอนจำนำรถยนต์ 15,000 บาท กับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินแก่โจทก์ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาวันที่ 31 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์หรือใช้ราคาแทนจนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 89,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยรับชำระเงินจากโจทก์และให้จำเลยคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำรถยนต์ และทำให้สัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำรถยนต์ไปมอบแก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ก็ชำระหนี้แก่จำเลยหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาจำนำรถยนต์ แต่โจทก์กับจำเลยทำเป็นสัญญาขายฝากรถยนต์ไว้เป็นเงิน 90,000 บาท โดยจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์เพียง 85,000 บาท และจำเลยหักเงินไว้เป็นค่าจอดรถยนต์ 5,000 บาท บ่งชี้ว่าสัญญาขายฝากรถยนต์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำรถยนต์ ปัญหานี้โจทก์และนางสาวสิริรักษ์ บุตรโจทก์เบิกความว่า วันที่ 22 ธันวาคม 2557 โจทก์นำรถยนต์ตามฟ้องไปจำนำไว้กับจำเลยเป็นเงิน 90,000 บาท มีกำหนด 1 ปี แต่จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในสัญญากู้เงินขายฝากรถยนต์ในราคา 90,000 บาท มีกำหนดไถ่ภายใน 1 เดือน โจทก์ชำระหนี้จำนำรถยนต์แก่จำเลย 5 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 วันที่ 11 มีนาคม 2560 วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 วันที่ 22 กรกฎาคม 2560 และวันที่ 6 สิงหาคม 2560 รวมเป็นเงิน 89,000 บาท ส่วนจำเลยเบิกความว่า โจทก์ขายฝากรถยนต์ตามฟ้องให้แก่จำเลย โดยโจทก์รับเงินไปครบถ้วนแล้ว เห็นว่า พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความยันกันอยู่ว่าโจทก์จำนำหรือขายฝากรถยนต์ ยากที่รับฟังว่าฝ่ายใดเบิกความตามความจริง แต่ตามคำเบิกความของโจทก์และนางสาวสิริรักษ์ ได้ความว่าโจทก์ชำระหนี้จำนำรถยนต์แก่จำเลย 5 ครั้ง และนางสาวสิริรักษ์ เบิกความตอบคำถามติงทนายโจทก์ว่าโจทก์และจำเลยเข้าใจตรงกันว่าให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน นอกจากนั้น ตามสำเนาใบโอนเงินและข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่าโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยตามสำเนาใบโอนเงินดังกล่าว กับข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ดังกล่าวเป็นการติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลย และข้อความสนทนาดังกล่าวก็ระบุว่าเป็นการโอนเงินชำระดอกเบี้ย ไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าซื้อรถยนต์คืนจากจำเลยดังที่จำเลยเบิกความตอบคำถามติงทนายจำเลย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อว่าโจทก์ส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้อันเป็นการจำนำรถยนต์ อีกทั้งการขายฝากนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก แต่ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ของจำเลยปรากฏว่าจำเลยหักเงินที่จ่ายให้โจทก์เป็นค่าจอดรถยนต์และค่าดูแลรักษาไว้ด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยถือว่ารถยนต์ดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามสำเนาสัญญาขายฝากรถยนต์ มีข้อความว่า "ข้อ 1 ผู้ขายตกลงขายฝากและผู้ซื้อตกลงซื้อรถยนต์…ในราคา 90,000 บาท...ผู้ขายฝากได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบรถพร้อมใบคู่มือจดทะเบียน...ให้แก่ผู้ซื้อไว้เพื่อกระทำการโอนรถได้หากพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่แล้ว ข้อ 2 ผู้ขายฝากจะกระทำการไถ่รถในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ทำสัญญา มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์ ข้อ 6 ถ้าในระหว่างระยะเวลาสัญญาขายฝาก...จะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้รถที่ขายฝากไม่สามารถที่จะกระทำการโอนได้ในภายหลังที่ผู้ขายฝากสละสิทธิ์ไถ่รถ...ผู้ขายฝากจะต้องคืนเงินที่รับไปตามข้อ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ย...ให้แก่ผู้ซื้อ..." ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าโจทก์จะยอมให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกไปยังจำเลยก็ต่อเมื่อโจทก์ไม่ชำระเงิน 90,000 บาท คืนแก่จำเลยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกไปยังจำเลยทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์อาจไถ่รถยนต์นั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันตามสัญญาจำนำ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำ จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่รับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือ กับขอให้จำเลยคืนรถยนต์ตามฟ้องได้ และหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ